BAY คาดกรอบเงินบาทสัปดาห์นี้ 31.80-32.10 จับตาทิศทางนโยบายดอกเบี้ยเฟด

ข่าวเศรษฐกิจ Monday January 14, 2019 12:57 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) ประเมินทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่า มีแนวโน้มซื้อขายในกรอบ 31.80-32.10 บาทต่อดอลลาร์ เทียบกับระดับปิดแข็งค่าที่ 32.92 บาทต่อดอลลาร์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยเงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบกว่า 7 เดือน สอดคล้องกับทิศทางค่าเงินหยวน

ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยสุทธิ 1.4 พันล้านบาท แต่ซื้อพันธบัตร 2.6 พันล้านบาท ในภาพรวมนักลงทุนยังคงเข้าซื้อสินทรัพย์เสี่ยงหลังธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) เน้นย้ำว่าจะใช้ความระมัดระวังมากขึ้นในการตัดสินใจเรื่องดอกเบี้ย ขณะที่ตลาดเริ่มมีความหวังว่า การเจรจารอบใหม่กับจีนอาจได้ข้อสรุปเพื่อยุติสงครามการค้า โดยประธานาธิบดีทรัมป์กล่าวว่าสหรัฐฯ ประสบความสำเร็จในการเจรจาการค้ากับจีน และเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ คาดว่าผู้เจรจาการค้าของจีนอาจเดินทางเยือนกรุงวอชิงตันในเดือนนี้

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ กรุงศรี มองว่ารายงานการประชุมของเฟดประจำวันที่ 18-19 ธ.ค.61 แสดงให้เห็นว่าผู้กำหนดนโยบายกังวลมากขึ้นต่อตลาดการเงินที่ผันผวน และการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก โดยผู้กำหนดนโยบายบางรายระบุว่า ก่อนที่เฟดจะปรับดอกเบี้ยอีกครั้ง เฟดจำเป็นต้องพิจารณาถึงปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่ปรากฏชัดมากยิ่งขึ้นในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา

นอกจากนี้ เราเชื่อว่าการปิดหน่วยงานรัฐบาลสหรัฐฯ บางส่วนซึ่งยังคงยืดเยื้อ กำลังบั่นทอนความเชื่อมั่นต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ ในสัปดาห์นี้ตลาดจะให้ความสนใจกับข้อมูลยอดค้าปลีกของสหรัฐฯ รวมถึงการลงมติในสภาสหราชอาณาจักรเรื่องข้อเสนอ Brexit ซึ่งคาดว่าจะเพิ่มความผันผวนให้กับอัตราแลกเปลี่ยน

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยืนยันนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายยังมีความจำเป็นต่อเศรษฐกิจไทย โดยคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 62 น่าจะขยายตัวได้ 4% แม้ปัจจัยภายนอกเผชิญความเสี่ยงด้านต่ำมากขึ้น อย่างไรก็ดี เป็นที่น่าสนใจว่าทางการระบุว่าไม่กังวลเรื่องอัตราเงินเฟ้อทั่วไปต่ำกว่ากรอบล่างของเป้าหมายและเชื่อว่าส่วนหนึ่งเป็นผลของการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง นอกจากนี้ ธปท.มองว่าการลงทุนภาคเอกชนและภาครัฐที่มีทิศทางสดใสขึ้น จะช่วยลดการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดและผ่อนแรงกดดันเงินบาทแข็งค่า

ทางด้าน รมว.คลังมั่นใจว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะเติบโต 4% เช่นกัน โดยได้แรงหนุนจากการเร่งลงทุนภาครัฐ และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ในภาวะเช่นนี้เราประเมินว่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าอย่างค่อยเป็นค่อยไป ท่ามกลางการคาดการณ์ทิศทางดอกเบี้ยของเฟดที่เปลี่ยนไปอย่างมีนัยสำคัญ แต่เศรษฐกิจโลกซึ่งมีความไม่แน่นอนเพิ่มขึ้น จะจำกัดกระแสเงินทุนไหลเข้าสู่ตลาดเกิดใหม่เป็นระยะ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ