กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ร่วมกับสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) จัดประชุมหารือและส่งมอบผลการศึกษาข้อเสนอแนะการพัฒนาแพลตฟอร์ม การพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดนแบบธุรกิจกับธุรกิจ (B2B Cross Border e-Trading Platform) เพื่อจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายให้แก่คณะกรรมการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมี รมว.พาณิชย์เป็นประธาน พิจารณาประกอบเป็นแนวทางในการขับเคลื่อนการค้าออนไลน์ข้ามพรมแดนแบบธุรกิจกับธุรกิจของไทย
น.ส.บรรจงจิตต์ อังศุสิงห์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ได้รับมอบหมายให้เป็นหน่วยงานหลัก ในการพัฒนาและขับเคลื่อนการค้าในรูปแบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของประเทศ ซึ่งที่ผ่านมา ได้บูรณาการความร่วมมือกับทุกกระทรวง รวมทั้งหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อขับเคลื่อนแผนพัฒนาพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของประเทศ
"การส่งมอบผลการศึกษา ข้อเสนอแนะการพัฒนาแพลตฟอร์มการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดนแบบธุรกิจกับธุรกิจ ซึ่งจัดทำโดย สรท.ในวันนี้ จึงจะเป็นก้าวสำคัญในการผลักดันสินค้าและบริการของไทย สู่ตลาดโลกผ่านช่องทางการค้าออนไลน์ข้ามพรมแดนอย่างยั่งยืน และเป็นรูปธรรม" น.ส.บรรจงจิตต์กล่าว
ทั้งนี้ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ได้ดำเนินการขยายช่องทางการค้าแบบออนไลน์ ผ่าน Thaitrade.com และพันธมิตรพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ชั้นนำที่ได้รับความนิยมสูงในโลก อาทิ Amazon, eBay, Gosoko, Redmart, Coupang และ Alibaba เพื่อสร้างโอกาสทางการค้าให้เกษตรกร SME และผู้ประกอบการรายใหม่สู่ตลาดโลก อาทิ จีน เกาหลี ญี่ปุ่น อินเดีย แอฟริกา ยุโรป สหรัฐ และแคนาดา สามารถสร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการปีละประมาณ 1,000-1,500 ล้านบาท มีผู้ประกอบการรายใหม่ เข้าสู่การค้าออนไลน์ ปีละประมาณ 10,000 ราย
ด้าน น.ส.กัณญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เผยว่า สรท. ในฐานะกรรมการในคณะกรรมการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ได้เล็งเห็นว่าประเทศไทยต้องมีการพัฒนาการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดนแบบธุรกิจกับธุรกิจ เพื่อสนับสนุนให้ผู้ส่งออกและธุรกิจที่เกี่ยวข้องของไทย สามารถใช้ประโยชน์จากแพลตฟอร์มการพาณิชย์ฯ ในการเพิ่มมูลค่าทางการค้าระหว่างประเทศและแข่งขันกับต่างได้ประเทศได้อย่างยั่งยืน สรท. จึงได้จัดทำข้อเสนอแนะการพัฒนาแพลตฟอร์มการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดนแบบธุรกิจกับธุรกิจ เพื่อเป็นแนวทางในการกำหนดกลไกขับเคลื่อน และข้อเสนอแนะการส่งเสริมการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดนแบบธุรกิจกับธุรกิจ สำหรับให้คณะกรรมการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ นำไปใช้ประโยชน์ ในเชิงนโยบาย
สำหรับผลการศึกษา แบ่งเป็น 5 ส่วนสำคัญ ได้แก่ 1) การเข้าสู่ตลาดการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในฐานะผู้ส่งออกหรือผู้ขาย 2) การบริการที่สนับสนุนด้านการเงินและระบบการชำระเงินออนไลน์ 3) การใช้บริการด้านโลจิสติกส์ 4) การเจรจาต่อรองเงื่อนไขการค้าระหว่างประเทศผ่านแพลตฟอร์มฯ เพื่อให้สามารถรองรับการกำหนดเงื่อนไขการค้าระหว่างประเทศ และ 5) การฝึกอบรมผู้ประกอบการที่ต้องการใช้บริการแพลตฟอร์ม
ทั้งนี้ รายงานผลการสำรวจของ UNCTAD ในปี 2560 ระบุว่า การค้าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ทั่วโลกมีมูลค่าถึง 25.3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ โดยการค้าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์แบบธุรกิจกับธุรกิจ B2B มีมูลค่า 22.3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์แบบธุรกิจกับผู้บริโภค (Business-to-Customer: B2C) มีมูลค่า 2.9 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ โดยคู่ค้าที่สำคัญของไทยทั้งจีน และสหรัฐอเมริกา ล้วนมีมูลค่าการค้าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์แบบข้ามพรมแดนสูง โดยจีนเป็นประเทศที่มีมูลค่าการค้าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์แบบฺ B2C มากที่สุดถึง 617 พันล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่ สหรัฐอเมริกามีมูลค่าการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์แบบ B2B มากที่สุดถึง 6,443 พันล้านเหรียญสหรัฐ
"ดังนั้น การพัฒนาแพลตฟอร์มการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดนแบบ B2B จึงถือเป็นก้าวสำคัญสำหรับการพัฒนาค้าระหว่างประเทศของไทย ให้เข้าสู่การค้ายุคดิจิทัลได้อย่างมั่งคง และยั่งยืนต่อไป" ประธาน สรท.ระบุ