นายอำนวย ปรีมนวงศ์ อธิบดีกรมธนารักษ์ เป็นประธานในพิธีเปิด โครงการการให้บริการรับแลกคืนเหรียญกษาปณ์เคลื่อนที่ (Mobile Coin Unit) โดยกล่าวว่า กรมธนารักษ์เป็นหน่วยงานเพียงแห่งเดียวของประเทศที่มีหน้าที่ผลิตเหรียญกษาปณ์หมุนเวียน เพื่อใช้เป็นสื่อกลางในการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าในท้องตลาด มี 6 ชนิดราคา ได้แก่ เหรียญ 25 สตางค์/ 50 สตางค์/ 1 บาท/ 2 บาท/ 5 บาท และ 10 บาท ในแต่ละปี กรมธนารักษ์จำเป็นต้องผลิตเหรียญให้ได้ปริมาณเพียงพอต่อความต้องการของประชาชน และสามารถรองรับระบบเศรษฐกิจในภาพรวมทั้งประเทศ
ที่ผ่านมา โลหะที่ใช้ในการผลิตเหรียญมีการปรับราคาสูงขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนในการผลิตสูงกว่ามูลค่าราคาหน้าเหรียญ อีกทั้งปัจจุบันมีธุรกิจขายสินค้าและให้บริการผ่านเครื่องขายสินค้าหรือบริการอัตโนมัติเป็นจำนวนมาก เช่น ตู้เติมเงินโทรศัพท์ ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ เครื่องซักผ้าหยอดเหรียญ เป็นต้น ประกอบกับธนาคารต่าง ๆ สามารถให้บริการได้เฉพาะช่วงเวลาทำการของธนาคารและจำกัดปริมาณในการรับแลกคืนเหรียญ ตลอดจนศูนย์บริหารจัดการเหรียญกษาปณ์ของกรมธนารักษ์ จำนวน 6 แห่ง (เชียงใหม่, นครสวรรค์, อุบลราชธานี, ขอนแก่น, สุราษฎร์ธานี และสงขลา) ยังไม่เพียงพอต่อการรับแลกคืนเหรียญของประชาชนได้อย่างทั่วถึง
ดังนั้น เพื่อเป็นการลดต้นทุนในการผลิตเหรียญกษาปณ์ และเพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการได้มากขึ้น กรมธนารักษ์จึงได้เพิ่มช่องทางการให้บริการรับแลกคืนเหรียญกษาปณ์เคลื่อนที่ ซึ่งโครงการการให้บริการรับแลกคืนเหรียญกษาปณ์เคลื่อนที่ (Mobile Coin Unit) เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะกระตุ้นให้ประชาชนที่เก็บเหรียญไว้ในกระปุกออมสินหรือตามที่ต่าง ๆ นำออกมาแลกคืน เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนเพิ่มขึ้น
โดยจะออกให้บริการในจังหวัดปริมณฑลและจังหวัดใกล้เคียงที่ไม่มีศูนย์บริหารจัดการเหรียญกษาปณ์ รวม 14 จังหวัด ซึ่งในการออกให้บริการครั้งแรก จะให้บริการในพื้นที่จังหวัดปทุมธานี และพระนครศรีอยุธยา ระหว่างเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2562 และจากนั้นจะขยายพื้นที่ให้บริการไปจังหวัดปริมณฑลและจังหวัดใกล้เคียง จำนวน 12 จังหวัด ดังนี้ จังหวัดนนทบุรี, สมุทรสาคร, สมุทรปราการ, สมุทรสงคราม, นครปฐม, อ่างทอง, สิงห์บุรี, สุพรรณบุรี, ชลบุรี, ฉะเชิงเทรา, นครนายก และสระบุรี
ทั้งนี้ ตั้งเป้าหมายการรับแลกคืนเหรียญกษาปณ์หมุนเวียนทุกชนิดราคา เดือนละ 5 ล้านเหรียญ หรือ 60 ล้านเหรียญต่อปี