ศูนย์วิจัย KTB คาดศก.ไทยปีนี้โตชะลอมาที่ 4.1% เผชิญความเสี่ยงศก.โลก-คาดกนง.ขึ้นดอกเบี้ย-บาทแข็งค่า

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday January 15, 2019 16:10 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพชรพจน์ นันทรามาศ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส สายงาน Global Business Development and Strategy ธนาคารกรุงไทย (KTB) เปิดเผยว่า Krungthai Macro Research คาดเศรษฐกิจไทยปีนี้จะเติบโตราว 4.1% ชะลอตัวลงเล็กน้อยจาก 4.3% ในปีก่อน

ปัจจัยหลักที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปีนี้เปลี่ยนจากการส่งออกและการท่องเที่ยว มาเป็นการลงทุนเอกชนและภาครัฐที่คาดว่าจะขยายตัวเร่งขึ้นในช่วงหลังของปี จากโครงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน และโครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) นอกจากนี้ มาตรการดูแลเศรษฐกิจฐานรากของภาครัฐจะช่วยเสริมกำลังซื้อของภาคครัวเรือนด้วย

อย่างไรก็ตาม มองว่ายังมีความเสี่ยงทางเศรษฐกิจโลกที่เพิ่มขึ้น โดยปัจจัยที่ต้องติดตาม ได้แก่ สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีนที่ความเสี่ยงจะทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นยังมีอยู่ ตลอดจนการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจจีนที่คาดว่าภาคการผลิตจะชะลอตัวถึงไตรมาส 1/62 เป็นอย่างน้อย ซึ่งอาจเป็นอุปสรรคต่อการเติบโตของภาคการส่งออกและการท่องเที่ยวของไทยได้

สำหรับแนวโน้มการเกิดของภาวะถดถอยของเศรษฐกิจโลกมองว่าในปัจจุบันยังไม่เห็นผลมากนัก เพราะเศรษฐกิจโลกยังมีการขยายตัวได้แม้ว่าจะชะลอลงบ้าง ซึ่งกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ปรับลดประมาณการทางเศรษฐกิจ (GDP) ของโลกมาอยู่ที่ 3.7% ในปี 62 และทรงตัวในปี 63 ขณะที่กำลังซื้อรวมของประชากรในโลกยังมีอยู่ไนระดับที่ดี

แต่การที่ส่วนต่างผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ ประเภทอายุ 2 ปี และ 10 ปี ปรับลดลงมาอยู่ในระดับที่เกือบจะเท่ากันและใกล้ 0% เป็นสัญญาณที่เกิดก่อนภาวะการถดถอยของเศรษฐกิจ (Recession) ทำให้หลายๆสถาบันมีความกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจโลกในอนาคต และทางด้านตลาดทุนได้เริ่มตอบรับปัจจัยดังกล่าวไปแล้วจากการปรับฐานของตลาดหุ้นทั่วโลกในช่วงที่ผ่านมา

ด้านทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยคาดว่าในช่วงครึ่งหลังของปี 62 คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีโอกาสจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% มาอยู่ที่ 2% ซึ่งจะมีผลให้อัตราดอกเบี้ย MLR ของธนาคารพาณิชย์ปรับเพิ่มขึ้นตามเป็น 0.16-0.24% ในปีนี้ โดยประเมินว่าการปรับเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยนโยบายทุกๆ 1% จะส่งผลให้ MLR เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 0.33-0.44% ซึ่งปัจจัยดังกล่าวเป็นสิ่งที่ภาคธุรกิจควรเตรียมความพร้อมด้านต้นทุนดอกเบี้ยที่สูงขึ้น

ส่วนปี 63-64 คาดว่า กนง.จะปรับดอกเบี้ยเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นไปถึงระดับ 3% ถือว่าเป็นการปรับเพิ่มที่น้อยกว่าในอดีตที่เคยขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 5% ในช่วงปี 47-49 และ 3.5% ในช่วงปี 53-54 แต่ในช่วงเวลาดังกล่าวอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับที่สูงกว่าปัจจุบัน หรือเฉลี่ยอยู่ที่ 4% ในอดีต แต่ปัจจุบันอัตราเงินเฟ้อถือว่าอยู่ในระดับที่ไม่สูงและยังไม่ถึง 2% ทำให้อัตราดอกเบี้ยในช่วง 1-3 ปีนี้จะไม่สูงกว่าในอดีต

ขณะที่แนวโน้มค่าเงินบาทในปี 62 มองว่าจะแข็งค่าขึ้นจากปี 61 มาอยู่ที่ 32 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ จากปีก่อนที่ 32.7 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ โดยการแข็งค่าของค่าเงินบาทมาจากการสิ้นสุดวัฏจักรการแข็งค่าของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯเริ่มอ่อนค่าลง ซึ่งเริ่มเห็นบ้างแล้วในปัจจุบัน หลังจากที่เศรษฐกิจสหรัฐฯเริ่มมีการชะลอตัวเกิดขึ้น ทำให้กระแสเงินทุนที่เคยไหลกลับไปสู่สหรรัฐฯเริ่มไหลออกมาเพื่อกระจายความเสี่ยงในภูมิภาคอื่นๆ

ขณะที่ปัจจัยหนุนค่าเงินบาทในประเทศยังคงเป็นการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย จากปัจจัยหนุนการลงทุนของภาครัฐและเอกชน และหากมีการเลือกตั้งที่แน่นอนแล้วจะเป็นแรงหนุนต่อค่าเงินบาทได้อย่างมีนัยสำคัญ รวมทั้งหากช่วงหลังการเลือกมีการจัดตั้งรัฐบาลอย่างราบรื่นและการลงทุนต่างๆยังต่อเนื่องจะหนุนต่อกระแสเงินทุนที่ไหลเข้า

และหากครึ่งปีหลังมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะทำให้ค่าเงินบาทมีโอกาสแข็งค่าไปแตะ 31 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งภาพรวมการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทในปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ 31-32.30 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ

นายกิตติพงษ์ เรือนทิพย์ รองผู้อำนวยการฝ่าย สายงาน Global Business Development and Strategy กล่าวว่า ปีนี้จะมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายเศรษฐกิจในประเทศที่สำคัญ ได้แก่ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 1 ครั้งสู่ระดับ 2% การบังคับใช้มาตรการคุมสินเชื่อที่อยู่อาศัยของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในเดือน เม.ย. และการหมดอายุของสิทธิประโยชน์ด้านภาษีของกองทุน LTF เป็นต้น

แม้ว่าเศรษฐกิจโดยรวมจะเติบโตได้ดี แต่ปีนี้ถือว่าเป็นปีที่ท้าทายสำหรับภาคธุรกิจ Krungthai Macro Research แนะนำให้ภาคธุรกิจให้ความสำคัญการบริหารความเสี่ยง โดยเฉพาะเรื่องของสภาพคล่องทางการเงิน ในภาวะที่กำลังซื้อจากผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศมีความไม่แน่นอนเพิ่มขึ้น และต้นทุนทางการเงินสูงขึ้น นอกจากนี้ หลายธุรกิจจะพบกับความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี จึงจำเป็นต้องมีแผนรับมือกับการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคในยุคของ technological disruption อีกด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ