กรมศุลฯ จับมือ 4 แบงก์รับชำระภาษีผ่านระบบ Bill Payment อำนวยความสะดวก-ลดต้นทุนให้ผู้ประกอบการ

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday January 15, 2019 16:25 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ อธิบดีกรมศุลกากร เปิดเผยว่า กรมศุลกากร ได้ร่วมมือกับธนาคารกรุงไทย (KTC) ธนาคารกรุงเทพ (BBL) ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) และบริษัท เคาน์เตอร์เซอร์วิส จำกัด ให้บริการรับชำระค่าภาษีอากรผ่านระบบ Bill Payment ตั้งแต่วันที่ 21 ธ.ค.61 ที่ผ่านมา และได้เร่งให้ความรู้ผู้ประกอบการชำระภาษีผ่านช่องทางดังกล่าวให้ถูกต้อง แม่นยำ เพิ่มความสะดวก รวดเร็ว และประหยัดค่าใช้จ่าย

ทั้งนี้ ปัจจุบันผู้ประกอบการที่เสียภาษีกรมศุลกากร ชำระภาษีทางระบบอีเพย์เมนต์ 50% ที่เหลือ 40% ชำระเป็นเช็ค และอีก 2% ชำระเป็นเงินสด เมื่อมีระบบ Bill Payment จะทำให้การใช้เช็คและเงินสดชำระภาษีลดลงอีก เพราะผู้ประกอบการสามารถพิมพ์เอกสารเสียภาษีได้ด้วยตนเอง และนำไปชำระที่ธนาคารหรือเคาน์เตอร์เซอร์วิสได้ทันที นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังสามารถพิมพ์ใบเสร็จการชำระภาษีผ่านออนไลน์ โดยไม่ต้องมารับใบเสร็จรับเงินที่กรมศุลกากร

"ที่ผ่านมา มีผู้ใช้บริการที่มาชำระเงินที่เคาน์เตอร์ของกรมศุลกากรคิดเป็น 45% ของจำนวนผู้มาเสียอากรทั้งหมด หากผู้รับบริการหันมาใช้ระบบดังกล่าว จะเป็นการลดต้นทุน และอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้รับบริการ และผู้ประกอบการ รวมทั้งเพื่อเป็นการสนับสนุนให้กรมศุลกากรสามารถรับชำระค่าภาษีอากร และรายได้อื่นๆ ผ่านระบบ e-Payment ได้ 100% เพราะสามารถจ่ายภาษีออนไลน์ดังกล่าวได้ตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมเข้าสู่การเป็นสังคมไร้เงินสดได้อย่างแท้จริง และยั่งยืนต่อไป" นายกฤษฎา กล่าว

อธิบดีกรมศุลกากร กล่าวว่า เป้าหมายการเก็บภาษีของกรมฯ ในปีงบประมาณ 2562 ตามเอกสารงบประมาณอยู่ที่ 1 แสนล้านบาท คาดว่าจะเก็บได้เกินเป้าหมายแน่นอน โดย 3 เดือนแรกของปีงบประมาณ (ต.ค.-ธ.ค.61) เก็บภาษีได้ 2.6 หมื่นล้านบาท สูงกว่าเป้าหมาย 8.9% เนื่องจากมีการนำเข้ารถยนต์ และสินค้าอื่นเพิ่มขึ้นจำนวนมาก ตามการขยายตัวเศรษฐกิจที่ยังมีต่อเนื่อง แม้ว่าเศรษฐกิจปี 2562 มีการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง แต่กระทรวงการคลังยังคาดว่าจะขยายตัวได้ 4% ซึ่งเป็นระดับที่สูงอยู่ในช่วงของการขยายตัวได้เต็มศักยภาพที่ 4-5% ตามที่รัฐบาลตั้งเป้าหมายไว้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ