นายศิระ อินทรกำธรชัย ประธานกรรมการบริหาร และหุ้นส่วน บริษัท PwC ประเทศไทยเปิดเผยรายงาน Global Economy Watch ฉบับล่าสุดว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 62 น่าจะเติบโตประมาณ 3.7-3.9% จากปีที่ผ่านมา โดยยังคงได้รับแรงหนุนจากการใช้จ่ายและการบริโภคภายในประเทศ ขณะที่การท่องเที่ยวน่าจะเริ่มฟื้นตัวจากปีนี้ หลังสำนักวิจัยหลายแห่งคาดว่านักท่องเที่ยวจีนจะกลับเข้ามาท่องเที่ยวในไทยตามปกติ แต่ภาคการส่งออกยังคงเผชิญกับการชะลอตัวตามแนวโน้มเศรษฐกิจของประเทศหลักที่เติบโตช้าลง รวมถึงได้รับผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้าอีกด้วย อย่างไรก็ดี ปัจจัยที่ต้องติดตามต่อในปีนี้คือ เสถียรภาพทางการเมืองภายในประเทศ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ และปัจจัยภายนอก
ขณะที่คาดว่าอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปี 62 จะชะลอตัว โดยอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจกลุ่มประเทศ G7 จะกลับสู่การเติบโตในระดับปกติ ซึ่งถือเป็นอัตราการเติบโตโดยเฉลี่ยในระยะยาว
ทั้งนี้ PwC คาดการณ์ว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในหลายๆ ประเทศที่พัฒนาแล้วตั้งแต่ช่วงสิ้นปี 59 ถึงช่วงต้นของปี 61 นั้นได้สิ้นสุดลงแล้ว โดยหลังจากที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ ได้รับแรงหนุนจากนโยบายกระตุ้นทางการคลังของภาครัฐฯ ในช่วงก่อนหน้า มาถึงในปีนี้คาดว่าจะค่อยๆ เริ่มอ่อนแรงลง ในส่วนของอัตราดอกเบี้ยที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นน่าจะส่งผลทำให้การใช้จ่ายของผู้บริโภคลดลง ขณะที่การแข็งค่าของเงินดอลลาร์จะส่งผลกระทบต่อการส่งออก ซึ่ง PwC คาดว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปี 62 จะเติบโตได้ในระดับปานกลางที่ 2.3% จาก 2.8% ในปี 2561
สำหรับเศรษฐกิจของสาธารณรัฐประชาชนจีนในปีนี้จะยังคงชะลอตัวเปรียบเทียบกับปี 61 แม้ว่ารัฐบาลจีนจะได้มีความพยายามที่จะทำให้เศรษฐกิจของตนชะลอตัวน้อยที่สุด แต่ผลกระทบจากการกีดกันด้านภาษีของสหรัฐฯและความต้องการในการควบคุมระดับหนี้ น่าจะส่งผลให้การเติบโตลดลงพอสมควรในปี 62
ด้านตลาดแรงงานในกลุ่มประเทศที่มีเศรษฐกิจที่พัฒนาแล้วคาดว่าจะตึงตัว โดยอัตราการว่างงานจะลดลงต่อเนื่อง แม้ว่าการสร้างงานจะชะลอตัว ซึ่งนี่จะเป็นปัจจัยที่ผลักดันให้ค่าจ้างแรงงานสูงขึ้น และส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจที่กำลังมองหาพนักงานที่มีทักษะมาทดแทนแรงงานที่ขาดแคลน PwC คาดการณ์ว่าในปี 62 การว่างงานในสหรัฐอเมริกาและเยอรมนีจะลดลงเล็กน้อย ในขณะที่อัตราการสร้างงานยังเติบโตอย่างแข็งแกร่ง
นายบาร์เร็ต คูเปเลียน นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ของ PwC กล่าวว่า กระแสของการจ้างงานในปีนี้จะแผ่วลง หลังประเทศอย่างสหรัฐอเมริกา แคนาดา และเยอรมนีเริ่มแตะเพดานโครงสร้างการว่างงานแล้ว และอัตราค่าจ้างแรงงานน่าจะค่อยๆ เริ่มสูงขึ้น หากอังกฤษการออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (เบร็กซิท) เรียบร้อยตามแผนที่ได้วางไว้ เราคาดว่าจะเห็นอัตราการว่างงานในสหราชอาณาจักรลดลงอย่างชัดเจนในทางตรงกันข้าม หากเบร็กซิทไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้ อาจนำไปสู่อัตราการว่างงานที่สูงขึ้นอย่างชัดเจน
รายงานของ PwC ระบุว่า อันดับของสหราชอาณาจักรจะปรับตัวลดลงในการจัดอันดับประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก โดยทั้งอินเดียและฝรั่งเศสน่าจะแซงหน้าสหราชอาณาจักร โดยในปี 62 อันดับขนาดเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรจะตกลงจากอันดับที่ 5 สู่อันดับที่ 7 ทั้งนี้ อันดับของสหราชอาณาจักรและฝรั่งเศสมีการสลับกันไปมามาโดยตลอด เนื่องจากทั้งสองประเทศมีระดับของการพัฒนาและจำนวนประชากรที่ใกล้เคียงกัน ในส่วนอันดับของอินเดียที่ไต่สูงขึ้น มีแนวโน้มที่จะขึ้นถาวร โดย PwC คาดการณ์ว่า ในปี 62 อัตราการเติบโตของจีดีพีที่แท้จริง (Real GDP growth) ของสหราชอาณาจักรจะมีการเติบโตอยู่ที่ 1.6% ฝรั่งเศสเติบโต 1.7% และอินเดียเติบโตที่ 7.6%
ด้านนาย ไมค์ เจคแมน นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ของ PwC กล่าวว่า อินเดียถือเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่และเติบโตเร็วที่สุดในโลก ด้วยจำนวนประชากรที่มหาศาล และมีศักยภาพสูงที่จะโตได้อีก เนื่องจากจีดีพีต่อหัวที่ยังคงไม่ได้สูงมากนัก และน่าจะทำให้อินเดียสามารถไต่อันดับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในตารางอันดับจีดีพีโลกในช่วงทศวรรษหน้าได้
"ในส่วนของสหราชอาณาจักรและฝรั่งเศสที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ไม่แพ้กันและแข่งขันกันอย่างคู่คี่สูสีมาโดยตลอด แต่การเติบโตที่ลดลงของสหราชอาณาจักรในปีที่ผ่านมาและต่อเนื่องมาจนถึงปีนี้ น่าจะส่งผลให้ฝรั่งเศสกลับมามีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่กว่า โดยความแข็งแกร่งของสกุลเงินยูโรเทียบกับเงินปอนด์ยังถือเป็นปัจจัยสำคัญที่เอื้อต่อการปรับขึ้นของฝรั่งเศสด้วย"