นายเกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสประจำประเทศไทย ธนาคารโลก คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยปี 62 จะชะลอการเติบโตมาที่ 3.8% จากก่อนหน้านี้ที่คาดการณ์ไว้ 3.9% เมื่อ ต.ค.61 ตามแนวโน้มเศรษฐกิจโลก ก่อนจะฟื้นตัวขึ้นเล็กน้อยที่ 3.9% ในปี 63 โดยการเติบโตทางเศรษฐกิจยังจะพึ่งพาการบริโภคจากภายในประเทศ เนื่องจากการส่งออกได้รับผลกระทบจากอุปสงค์ของตลาดโลกที่ลดลง
จากปัจจัยแวดล้อมนี้ การลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐและการปฏิรูปเศรษฐกิจตามที่วางแผนไว้อย่างต่อเนื่อง จะช่วยกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศปีหน้า และช่วยส่งเสริมการเติบโตเศรษฐกิจในระยะกลาง
ขณะที่เศรษฐกิจอาจมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นจากสหรัฐ-จีนชะลอตัวลงอีก เนื่องจากความตึงเครียดทางการค้า ดังนั้นอุปสงค์จากภายนอกยังเสี่ยงที่จะลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจส่งผลต่อการส่งออกของไทย
นายเกียรติพงศ์ กล่าวว่า เพื่อรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าว นักลงทุนภาคเอกชนอาจชะลอการลงทุนในอุตสาหกรรมส่งออก รวมถึงอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก นอกจากนี้ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ และประเทศที่พัฒนาแล้วทั้งปัจจุบันและอนาคต อาจส่งผลให้ตลาดเงินผันผวน ขณะที่ในส่วนของไทยนั้น การเบิกจ่ายงบลงทุนของภาครัฐที่ต่ำกว่าเป้าอยู่เสมอ การคลังที่ไม่บูรณาการ และความไม่แน่นอนทางการเมือง ยังคงเป็นความเสี่ยงสำหรับการดำเนินงานตามกำหนดของโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ที่มีการวางแผนไว้แล้ว
ธนาคารโลก มองว่า แนวโน้มนโยบายการเงินและการคลังที่ยืดหยุ่น ยังสามารถรักษาเศรษฐกิจมหาภาคให้มั่นคงอยู่ได้ ทั้งนี้คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะยังอยู่ระหว่าง 1-4% ซึ่งจากอัตราเงินเฟ้อที่ยังไม่เปลี่ยนแปลงและฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป กันชนทางด้านการเงินการคลังยังทำงานได้ดีและสามารถรองรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจหากมีความจำเป็นได้ ด้านอัตราหนี้สาธารณะของไทยยังอยู่ในระดับต่ำกว่า 42% ต่อจีดีพี เงินบาทมีความผันผวนน้อยลง ประเทศไทยมีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดในระดับที่เข้มแข็ง (8.1% ของจีดีพี) และมีทุนสำรองระหว่างประเทศสูงสุดในอาเซียน (74% ของจีดีพี)
"เศรษฐกิจไทยยังมีความยืดหยุ่นภายใต้แรงลมต้านจากภายนอก แม้การส่งออก และการท่องเที่ยวจะเริ่มชะลอลงตั้งแต่ไตรมาส 3 ปี 61 จากปัจจัยทั้งในและต่างประเทศ แต่การบริโภคและการลงทุนในประเทศกลับกระเตื้องขึ้น และยังได้เห็นการลงทุนของภาครัฐที่มีความชัดเจนมากขึ้นด้วย และคาดว่าการลงทุนภาครัฐจะเติบโตต่อเนื่องในปีนี้ และปีหน้า" นายเกียรติพงศ์ระบุ
อย่างไรก็ดี มองว่าจากปัญหาสงครามการค้านั้น สินค้าไทยได้รับผลกระทบโดยตรงไม่มากนัก แม้การส่งออกของไทยไปจีนจะลดลงบ้าง แต่ในภาพรวมแล้วสินค้าไทยสามารถส่งออกไปในกลุ่มอาเซียนได้มากขึ้น ซึ่งในส่วนนี้สามารถชดเชยกันได้เป็นอย่างดี ในขณะที่พบว่าประเทศมาเลเซียได้รับผลกระทบจากสงครามการค้ามากสุดในอาเซียน โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เนื่องจากอยู่ในห่วงโซ่การผลิตของสินค้าจีนที่ส่งเข้าไปยังสหรัฐฯ
"การส่งออกสินค้าของไทยยังมีความสามารถในการแข่งขันได้สูง แม้ประเทศปลายทางจะได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า แต่ไทยก็ยังสามารถปรับตัวและส่งออกไปยังประเทศอื่นทดแทนได้" นายเกียรติพงศ์กล่าว
โดยในปี 62 ธนาคารโลกคาดการณ์ว่า การส่งออกของไทยจะขยายตัวได้ราว 5% พร้อมมองว่าอุปสรรคสำคัญต่อการค้าไม่ใช่เรื่องของค่าเงินเป็นหลัก แต่อยู่ที่ความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าโดยเฉพาะจากประเทศขนาดใหญ่ เช่น สหรัฐ และจีน ขณะเดียวกันภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลักก็ยังเป็นส่วนสำคัญด้วยเช่นกัน เพราะหากเศรษฐกิจของจีนและสหรัฐชะลอตัว ก็จะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งหากภาวะสงครามการค้ามีความตึงเครียดและยืดเยื้อออกไปก็จะส่งผลให้เศรษฐกิจจีนและสหรัฐชะลอตัวลง โดยมีข้อมูลพบว่า หากเศรษฐกิจสหรัฐลดลง 1% จะกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาให้ลดลง 1% ด้วยเช่นกัน แต่หากเศรษฐกิจจีนลดลง 1% จะกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาให้ลดลง 0.5%
นายเกียรติพงศ์ ยังกล่าวด้วยว่า การที่ธนาคารโลกประเมินภาวะเศรษฐกิจไทยในปี 62 ไว้ที่ระดับ 3.8% นั้น อยู่ภายใต้สมมติฐานที่ว่าจะไม่มีเหตุความวุ่นวายทางการเมืองเกิดขึ้นจากที่ไทยจะมีการเลือกตั้งในปีนี้ แต่หากมีความวุ่นวายเกิดขึ้นจริง ก็ถือว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจ เพราะจะส่งผลให้การลงทุนภาครัฐชะลอตัว การเบิกจ่ายภาครัฐอาจจะลดต่ำลงได้อีกจากที่ต่ำกว่าเป้าหมายเป็นปกติอยู่แล้ว
"baseline ที่ 3.8% นั้น เราเชื่อว่าการเมืองไทยจะไม่มีความวุ่นวาย การลงทุนหลายโครงการเข้าระบบการจัดซื้อจัดจ้างตามกฎหมายใหม่ ซึ่งน่าจะเดินหน้าไปได้ดี โดยเฉพาะโครงการที่เป็น PPP ใน EEC รวมทั้งโครงการมอเตอร์เวย์, รถไฟทางคู่" นายเกียรติพงศ์กล่าว
ส่วนการกระตุ้นการบริโภคในประเทศนั้น มองว่าขณะนี้มีความจำเป็นน้อยลงที่รัฐบาลจะใช้นโยบายกระตุ้นการบริโภคในประเทศ เนื่องจากการบริโภคภาคเอกชนและภาคครัวเรือนอยู่ในระดับสูง ทั้งนี้ธนาคารโลกสนับสนุนให้รัฐบาลปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจอย่างจริงจัง ซึ่งจะมีโอกาสช่วยให้เศรษฐกิจไทยในอนาคตเติบโตได้สูงกว่าระดับ 4% ต่อปีได้ พร้อมกันนี้ ยังไม่แนะนำให้รัฐบาลใช้นโยบายรับจำนำข้าวดังเช่นในอดีตที่ผ่านมา เนื่องจากมองว่าต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก และยังไม่เกิดผลประโยชน์ต่อเกษตรกรอย่างแท้จริง อีกทั้งไม่มีความไม่โปร่งใส
สำหรับประเด็นด้านความเหลื่อมล้ำ โอกาส และทุนมนุษย์นั้น ธนาคารโลก รายงานว่า แม้การวัดความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ของประเทศไทยยังไม่ถือว่าสูงมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ที่มีลักษณะใกล้เคียงกัน แต่ความเหลื่อมล้ำยังคงเป็นประเด็นสำคัญในลำดับต้น ๆ ของประเทศ เพราะความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ส่งผลเสียที่สำคัญต่อประเทศ 2 ประการ คือ ความไม่เสมอภาคในโอกาสทางเศรษฐกิจ และทำให้สูญเสียศักยภาพในการผลิต ก่อให้เกิดผลเสียต่อการลงทุน นวัตกรรม และการจัดการความเสี่ยง
ด้านนางเบอร์กิท ฮานสล์ ผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศไทย กล่าวว่า การรักษาระดับคุณภาพของการปฏิรูปด้านโครงสร้างของประเทศให้ยั่งยืน เป็นเรื่องสำคัญสำหรับประเทศไทยในการลดความยากจน และช่วยยกระดับการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยในระยะยาวให้สูงกว่า 4% ในภาวะที่ต้องเผชิญกับสังคมผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
ประเด็นสำคัญเพื่อปรับปรุงทุนมนุษย์ของประเทศไทย ได้แก่ การเผชิญกับความท้าทายในการจัดการโรงเรียนขนาดเล็กที่ได้รับการศึกษาคุณภาพต่ำ การปรับปรุงโดยใช้โรงเรียนเป็นศูนย์กลาง และการเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้จ่ายภาครัฐ นอกจากนี้ การส่งเสริมให้คนมีสุขภาพที่ดีกว่าเดิม โดยเฉพาะการมุ่งเน้นไปที่การป้องกันและลดปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ล้วนมีความสำคัญต่ออัตราการรอดชีวิตของผู้ใหญ่
"การให้ความสำคัญเรื่องการลงทุนด้านทุนมนุษย์ นับเป็นเรื่องสำคัญในการสร้างอนาคตที่ดีกว่าสำหรับคนไทยทุกคน และการให้ความสำคัญกับการศึกษา และสาธารณสุขจะเป็นการเปิดโอกาสที่เท่าเทียมกันให้แก่คนรุ่นต่อไปในระยะยาว" นางเบอร์กิท ฮานสล์ กล่าว