บล.ไทยพาณิชย์ เผยบทวิเคราะห์ "ส่งออกปี 2562 โต 8% เป็นไปได้หรือ" โดยระบุว่า จากในปี 2561 ที่เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ดีเกินคาด จากภาคต่างประเทศโดยเฉพาะการส่งออกและการท่องเที่ยวเป็นหลัก โดยมูลค่าการส่งออก 11 เดือนแรก (ม.ค.-พ.ย.61) สูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 21,145 ดอลลาร์/เดือน ทำให้หลายฝ่ายมองว่ายอดการส่งออกในปี 62 จะยังขยายตัวดีต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม ในปี 62 เศรษฐกิจและการค้าโลกเผชิญความท้าทายหลายประการ เช่น (1) ฐานการส่งออกในปี 61 ที่สูง (2) สภาวะเศรษฐกิจในตลาดหลักเริ่มชะลอตัวลงอย่างชัดเจน และ (3) ความเสี่ยงจากสงครามการค้าที่ยังดำเนินอยู่
ทั้งนี้ ในมิติด้านตลาดจะเห็นได้ว่าในเดือน ต.ค.61 กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ปรับลดการขยายตัวเศรษฐกิจโลกในปี 62 ลงจาก 3.9% เหลือ 3.7% ซึ่งจะทำให้มูลค่าการส่งออกของไทยลดลงประมาณ 0.5% จากกรณีฐาน โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ล่าสุด พบว่าผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อทั้งในตลาดหลักและตลาดรอง มีความกังวลเกี่ยวกับทิศทางเศรษฐกิจและธุรกิจมากขึ้น
ส่วนมิติรายสินค้านั้น จะเห็นได้ว่าในไตรมาสที่ 4/61 สินค้ากลุ่มใหญ่ที่มีน้ำหนักต่อมูลค่าการส่งออกไทยมาก เช่น สินค้าเกษตร-อุตสาหกรรมเกษตร อิเล็กทรอนิกส์ และยานยนต์ เริ่มชะลอตัว/หดตัวลงอย่างมีนัยสำคัญ และหากพิจารณาแนวโน้มในอนาคตแล้ว จะเห็นได้ว่าแนวโน้มของการส่งออกสินค้าของไทยไม่สดใส จากปัจจัยลบเฉพาะตัวของสินค้าส่งออกแต่ละกลุ่ม เช่น ราคาสินค้าเกษตรที่ยังหดตัว วัฐจักรสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ชะลอลง และปัจจัยเสี่ยงเชิงนโยบายที่กระทบภาคยานยนต์ ทำให้ภาคการส่งออกไทยมีความเสี่ยงมากขึ้น
SCBS Wealth Research คำนวณความเสี่ยงด้านลบของการส่งออกของไทย โดยใช้สมมุติฐานหลักจากการคาดการณ์อัตราการนำเข้าของประเทศคู่ค้าสำคัญของไทยที่คำนวณโดย IMF เป็นหลัก พบว่าในปี 62 การส่งออกของไทย มีความเสี่ยงด้านลบจากประมาณการของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อยู่ประมาณ 0.8-1.2% โดยจะขยายตัวได้ประมาณ 2.6-3.0% ต่อปี จากประมาณ 3.8% ต่อปีในประมาณการเดิม
พร้อมมองว่า การส่งออกที่ชะลอลง อาจลดทอนอัตราการขยายตัวของ GDP ไทยในปีนี้ ประมาณ 0.20-0.25% จากประมาณการเดิม เป็นไปได้ว่าการส่งออกที่ชะลอลง อาจทำให้เศรษฐกิจไทยในปีนี้ขยายตัวได้เพียง 3.75%-3.80% ต่อปี