นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า สภาคณะกรรมาธิการแห่งสหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย (The Council of the Eurasian Economic Commission) ซึ่งกำกับดูแลกฎระเบียบของกลุ่มสหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย (Eurasian Economic Union : EAEU) ประกอบด้วย 5 ประเทศ คือ สหพันธรัฐรัสเซีย สาธารณรัฐเบลารุส สาธารณรัฐคาซัคสถาน สาธารณรัฐอาร์เมเนีย และสาธารณรัฐคีร์กีซ ได้อนุมัติกฎถิ่นกำเนิดสินค้าฉบับใหม่สำหรับการให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) แก่ประเทศพัฒนาน้อยที่สุดและประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งจะมีผลใช้บังคับในวันที่ 16 ม.ค.เป็นต้นไป
โดยภายใต้กฎถิ่นกำเนิดสินค้าฉบับใหม่นี้ ประเทศไทยถูกจัดอยู่ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งจะได้รับสิทธิประโยชน์ทางการค้าจาก EAEU ภายใต้เงื่อนไขดังต่อไปนี้ คือ 1.) อัตราภาษีขาเข้า EAEU ได้รับการลดหย่อนลงร้อยละ 25 จากอัตราปกติ 2.) เกณฑ์การได้ถิ่นกำเนิดสินค้าที่จะได้รับสิทธิต้องได้มาโดยใช้วัตถุดิบภายในประเทศที่รับสิทธิทั้งหมด (Wholly Obtained) หรือผ่านการแปรสภาพอย่างเพียงพอ (Sufficiently Processed) ก็ต่อเมื่อมูลค่าวัตถุดิบที่ไม่ได้ถิ่นกำเนิด (วัตถุดิบที่มีถิ่นกำเนิดจากประเทศที่ไม่ได้รับสิทธิหรือมีถิ่นกำเนิดไม่แน่ชัด) ต้องไม่เกินร้อยละ 50 ของมูลค่าสินค้าส่งออก ณ ราคาหน้าโรงงาน (Ex-work Price) โดยสามารถนำวัตถุดิบที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศกำลังพัฒนาและประเทศสมาชิก EAEU มานับรวมเป็นวัตถุดิบภายในประเทศผลิตเป็นสินค้าขั้นสุดท้ายในประเทศกำลังพัฒนาจะถือว่าได้ถิ่นกำเนิด และสามารถได้รับสิทธิลดหย่อนภาษีจาก EAEU ได้ 3.) เอกสารรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าสำหรับการขอใช้สิทธิฯ กำหนดให้ใช้หนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า Form A หรือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าบนเอกสารการค้า หรือเอกสารอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับสินค้า ในกรณีที่สินค้ามีมูลค่าไม่เกิน 5,000 ยูโร
"การปรับปรุงหลักเกณฑ์ครั้งนี้ ประเทศไทยจะได้ประโยชน์เพิ่มเติมจากเกณฑ์ที่ให้นับรวมวัตถุดิบจากประเทศสมาชิก EAEU เป็นวัตถุดิบภายในประเทศได้ ถือเป็นการบูรณาการประโยชน์ร่วมกันระหว่างประเทศผู้ให้สิทธิ GSP และประเทศผู้รับสิทธิ GSP กล่าวคือ ประเทศสมาชิก EAEU ได้รับประโยชน์จากการส่งออกวัตถุดิบให้แก่ประเทศผู้ได้รับสิทธิ และประเทศผู้ได้รับสิทธิสามารถนำวัตถุดิบไปสะสมถิ่นกำเนิดและผลิตสินค้าเพื่อส่งออกกลับมายังประเทศสมาชิก EAEU ได้" นายอดุลย์ กล่าว
ในปี 2560 การขอใช้สิทธิ GSP เพื่อการส่งออกไป EAEU มีมูลค่า 140.55 ล้านเหรียญสหรัฐ และในช่วงเดือน ม.ค.-พ.ค.61 มีการขอใช้สิทธิ GSP เพื่อการส่งออกไป EAEU มูลค่า 142.94 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีมูลค่าการขอใช้สิทธิมากเป็นลำดับที่ 3 ของการใช้สิทธิ GSP ทุกระบบ รองจากสหรัฐฯ และสวิตเซอร์แลนด์ โดยประเทศที่มีการขอใช้สิทธิ GSP เพื่อการส่งออกสูงสุดใน EAEU คือ รัสเซีย คิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 90 สินค้าที่มีการขอใช้สิทธิ GSP ที่สำคัญ ได้แก่ ผัก/ผลไม้ปรุงแต่ง สับปะรดกระป๋อง ข้าวที่สีบ้างแล้ว/ สีทั้งหมด ปลาทูน่ากระป๋อง/แปรรูป ข้าวโพดหวาน เดกซ์ทริน/โมดิไฟด์สตาร์ชอื่นๆ น้ำผลไม้/น้ำพืชผักอื่นๆ กุ้งแช่แข็ง ฝรั่ง มะม่วง มังคุด สด/แห้ง ซอสและของปรุงแต่งสำหรับทำซอส เป็นต้น