ม.หอการค้า คาดเม็ดเงินสะพัดช่วงเลือกตั้ง 8 หมื่นลบ. ดัน GDP โตเพิ่ม 0.3%

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday January 17, 2019 12:31 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางเสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวในหัวข้อ "เศรษฐกิจไทยกับการเลือกตั้ง" ในงานสัมมนาใหญ่ประจำปี สมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ โดยระบุว่า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยปี 62 จะขยายตัวได้ราว 4.0-4.2% โดยมีสมมติฐานสำคัญว่าปีนี้มีการเลือกตั้งระดับประเทศ และระดับท้องถิ่นที่จะเกิดขึ้นในช่วงครึ่งปีแรก ซึ่งจะส่งผลให้มีเงินสะพัดในช่วงการเลือกตั้งกว่า 80,000 ล้านบาท

"ถ้าเรามีการใช้จ่าย จะมีเงินสะพัดในช่วงเลือกตั้ง โดยธุรกิจที่จะได้รับผลดี คือ สิ่งพิมพ์ ป้ายโฆษณา กลุ่มค้าส่ง ค้าปลีก ภัตตาคาร น้ำมันปิโตรเลียม รวมแล้วประมาณ 5 หมื่นล้านบาท และถ้ารวมกับเงินที่จะสะพัดในช่วงเลือกตั้งท้องถิ่นอีก 3 หมื่นล้านบาท เป็น 8 หมื่นล้านบาท ผลักดันให้ GDP เพิ่มขึ้นจากเดิมได้อีก 0.3%" นางเสาวณีย์ระบุ

ทั้งนี้ มองว่า การเลือกตั้งจะเป็นหนึ่งในปัจจัยบวกต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศในปีนี้ เนื่องจากหากนักลงทุนและประชาชนมีความมั่นใจว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน ย่อมจะทำให้เกิดความเชื่อมั่นในการลงทุน ตลอดจนการจับจ่ายใช้สอย นอกจากนี้ ต้องติดตามต่อไปด้วยว่าภายหลังการเลือกตั้งแล้วได้รัฐบาลชุดใหม่ที่เป็นที่ยอมรับจากทุกภาคส่วน ก็ยิ่งจะทำให้เกิดความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ตลอดจนความเชื่อมั่นของประชาชนจากการบริโภคในประเทศ ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ ก็เชื่อว่าจะมีโอกาสทำให้เศรษฐกิจไทยปีนี้ขยายตัวได้มากกว่า 4.2%

นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ยังประเมินว่าการเติบโตของเศรษฐกิจไทยปีนี้ จะมีปัจจัยบวกมาจากการลงทุน-การใช้จ่ายภาครัฐเร่งตัวขึ้นจากปีก่อน, การลงทุนภาคเอกชนเร่งตัวชัดเจนขึ้น, การส่งออกยังขยายตัวได้ดี แม้จะมีอัตราการเติบโตที่ชะลอลง, การท่องเที่ยวมีสัญญาณฟื้นตัวจากปีก่อน, รายได้ภาคเกษตรเริ่มปรับตัวดีขึ้น ในขณะที่เสถียรภาพด้านต่างประเทศของไทย ทั้งเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดยังอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง หนี้ต่างประเทศระยะสั้นอยู่ในระดับต่ำ ดังนั้นจึงไม่ต้องกังวลว่าจะเกิดวิกฤติต้มยำกุ้งขึ้นอีกอย่างแน่นอน

ขณะที่ปัจจัยลบมาจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนยังมีแนวโน้มยืดเยื้อ, อัตราดอกเบี้ยยังเป็นแนวโน้มขาขึ้นต่อเนื่อง, วิกฤติค่าเงินในตลาดเกิดใหม่ที่ทำให้เงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่า, เศรษฐกิจจีนชะลอตัวกว่าที่คาด, ปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ของสถาบันการเงินที่มีสัญญาณน่ากังวล และความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ในตะวันออกกลาง ซึ่งส่งผลให้ราคาน้ำมันตลาดโลกผันผวน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ