นายฉันทานนท์ วรรณเขจร รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการร่วมหารือถึงแนวทางการพัฒนาการสำรวจการผลผลิตพืชด้วยดาวเทียม หรือ Crop Production Survey by Satellite ณ มหาวิทยาลัยเจ้อเจียง (Zhejiang University) และ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์หนานจิง (Nanjing Agricultural University) ณ สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรได้เข้าร่วมโครงการความร่วมมือไทย - จีน (Sino - Thai) ด้านวิชาการระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ของสาธารณรัฐประชาชนจีนและประเทศไทย ซึ่งจากการหารือร่วมกัน พบว่า ขณะนี้จีนใช้ดาวเทียมที่มีอยู่อย่างหลากหลายในภารกิจด้านการเกษตรและด้านอื่นๆ โดยดาวเทียมหลัก ได้แก่ HJA/B , GF-1, GF-2 , GF-6 , Sentinel-2 และ CBERS ซึ่งนับว่ามีรายละเอียดของภาพระดับสูง ร่วมกับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ที่มีอยู่ โดยเชื่อมโยงหรือส่งข้อมูลถึงกันได้ด้วยอินเทอร์เน็ต (Internet of Things : IoT) เชื่อมโยงเซ็นเซอร์ต่างๆ ที่กระจายอยู่มากกว่า 2,000 จุดทั่วประเทศ รวมทั้งการใช้อากาศยานไร้คนขับ (Unmanned Aerial Vehicle : UAV) เป็นตัวตรวจสอบค่าความผิดพลาด จากการวัดค่าการเปลี่ยนแปลงของตัวแปรต่างๆ อาทิ อุณหภูมิ ความชื้น และกระแสลม ตลอดจนมีการใช้กล้องวงจรปิดเพื่อติดตามการเจริญเติบโตของต้นพืชและการเปลี่ยนแปลงอันเนื่องมาจากแมลงศัตรูพืชอีกด้วย
นอกจากนี้ จีนยังใช้ดาวเทียมที่มีรายละเอียดสูง ประเมินเนื้อที่และผลผลิตด้านการเกษตรของประเทศอื่นๆ รวมทั้งประเทศไทยด้วยเช่นกันในการบริหารนโยบายด้านการเกษตรของประเทศตนเอง โดยหากผลผลิตในประเทศอื่นมีปริมาณมาก จีนจะดำเนินนโยบายรับซื้อจากต่างประเทศในทางกลับกันหากปริมาณการผลิตในประเทศอื่นมีปริมาณน้อย ประเทศจีนจะผลิตสินค้าดังกล่าวในประเทศเพิ่มขึ้น ดังนั้น ข้อมูลด้านดาวเทียม นับเป็นการใช้ประโยชน์เพื่อประเมินผลผลิต และส่งเสริมการเพาะปลูกสินค้าเกษตร ตลอดจนกำหนดนโยบายบริหารสินค้าเกษตรที่จะนำเข้ามาในประเทศ
สำหรับประเทศไทย ขณะนี้ สศก.ได้ใช้เทคโนโลยีจากดาวเทียมเพื่อสำรวจผลผลิตทางการเกษตรจากภาพถ่ายดาวเทียม LANDSAT8 ซึ่งทุก 16 วัน ภาพถ่ายดาวเทียมจะโคจรมาซ้ำบริเวณเดิม ร่วมกับแผนที่รายละเอียดสูงจาก Google มาใช้ในการแปลและวิเคราะห์เพื่อจำแนกเนื้อที่เพาะปลูกและเนื้อที่ยืนต้นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ ได้แก่ ข้าวนาปี ข้าวนาปรัง มันสำปะหลัง สับปะรดโรงงาน ยางพารา และ ปาล์มน้ำมัน และคาดว่าในระยะต่อไป สศก. จะเริ่มใช้ดาวเทียมธีออส 2 (THEOS 2) ในการสำรวจแทน ซึ่งตอบโจทย์การใช้ประโยชน์โดยรวมหลากหลายด้าน ทั้งการนำไปใช้ประโยชน์ด้านการเกษตร ด้านการจัดการน้ำแบบองค์รวม การจัดการด้านภัยพิบัติ ด้านภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ รวมทั้งด้านความมั่นคงด้านสังคมและเศรษฐกิจ