ThaiBMA คาดเอกชนออกหุ้นกู้ระยะยาวปี 62 ที่ 7.5-8.5 แสนลบ.จาก 8.78 แสนลบ.ปี 61

ข่าวเศรษฐกิจ Monday January 21, 2019 09:38 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางสาวอริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) กล่าวว่า มูลค่าการออกตราสารหนี้ภาคเอกชนระยะยาวในปี 62 ประมาณการอยู่ที่ 7.5-8.5 แสนล้านบาท จากระดับ 8.78 แสนล้านบาทในปี 61 ซึ่งเป็นยอดการออกตราสารหนี้ภาคเอกชนระยะยาวทำสถิติสูงสุดเป็นปีที่ 3 ติดต่อกัน ขณะที่ในปีนี้มองว่าภาคเอกชนยังมีการออกหุ้นกู้ต่อเนื่อง จากการลงทุนต่าง ๆ และใช้สำหรับการคืนหนี้เงินกู้สถาบันการเงิน เพื่อลดต้นทุนทางการเงิน แม้ว่าแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยจะเป็นช่วงขาขึ้น แต่มองว่าอัตราดอกเบี้ยการออกหุ้นกู้ยังอยู่ในระดับที่ไม่ส่งผลกระทบต่อต่อต้นทุนทางการเงินของธุรกิจอย่างมีนัยสำคัญ หรือเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย

ทั้งนี้ การคาดการณ์การออกหุ้นกู้ภาคเอกชนระยะยาวในปี 62 ที่ 7.5-8.5 แสนล้านบาท แบ่งเป็น การออกหุ้นกู้ชุดใหม่เพื่อทดแทนหุ้นกู้ชุดเดิมที่ครบกำหนดอายุ (Refinance) มูลค่า 3.8-4.1 แสนล้านบาท ซึ่งมาจากการต่ออายุ (Rollover) ในสัดส่วน 60-70% ของมูลค่าหุ้นกู้ที่ครบกำหนด 5.85 แสนล้านบาท และการออกหุ้นกู้ชุดใหม่ มูลค่า 4.5 แสนล้านบาท ซึ่งมาจากความต้องการระดมทุนเพิ่มรองรับขยายการลงทุน โดยที่ผ่านมามองว่าการเติบโตของมูลค่าการออกหุ้นกู้ภาคเอกชนระยะยาวที่เพิ่มขึ้นได้มีปัจจัยหนุนมาจากการที่บริษัทขนาดใหญ่ในประเทศไทยระดมทุนเพื่อการซื้อกิจการในต่างประเทศ เช่น เครือไทยเบฟเวอเรจ และเครือซีพี เป็นต้น ซึ่งทั้ง 2 กลุ่มออกหุ้นกู้ที่มีมูลค่าสูง ทำให้ภาพรวมของมูลค่าหุ้นกู้ภาคเอกชนระยะยาวเพิ่มขึ้น และในปีนี้ทั้ง 2 กลุ่มก็ยังมีแผนการออกอย่างต่อเนื่อง

ขณะที่อัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ไทย (Bond Yield) ในปี 62 มองว่าหลังคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายมาเป็น 1.75% ต่อปีแล้ว อัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ไทยอายุต่ำกว่า 1 ปี ปรับเพิ่มขึ้น โดยอัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ไทยอายุ 1 เดือน ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 1.49% ต่อปี จากก่อนหน้าที่ 1.45% ต่อปี อัตราผลตอบแทนตราวสารหนี้ไทยอายุ 2 ปีปรับลดลงมาอยู่ที่ 1.78% ต่อปี จากก่อนหน้าที่ 1.85% ต่อปี อัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ไทยอายุ 5 ปี ปรับลดลงมาอยู่ที่ 2.08% ต่อปี จากก่อนหน้าที่ 2.24% ต่อปี และอัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ไทยอายุ 10 ปี ปรับลดลงมาอยู่ที่ 2.43% ต่อปี จากเดิมที่ 2.57% ต่อปี อีกทั้งการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายส่งผลต่อกระแสเงินทุนที่ไหลออกทั้งตราสารหนี้ไทยระยะสั้นและระยะยาว

ส่วนหลังจากที่กระทรวงพาณิชย์ประกาศตัวเลขเงินเฟ้อเดือนธ.ค. 61 ออกมาในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ทำให้อัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ไทยอายุต่ำกว่า 5 ปี ปรับลดลงทั้งหมด โดยที่อัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ไทยอายุ 1 เดือน ปรับลดลงมาอยู่ที่ 1.47% ต่อปี จากเดิมที่ 1.78% ต่อปี และอัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ไทยอายุ 2 ปี ปรับลดลงมาอยู่ที่ 1.75% ต่อปี จากเดิมที่ 1.78% ต่อปี แต่อัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ไทยอายุสูงกว่าปี 5 ได้ปรับเพิ่มขึ้น โดยที่อัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ไทยอายุ 5 ปี ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 2.12% ต่อปี จากเดิมที่ 2.08% ต่อปี และอัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ไทยอายุ 10 ปี เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 2.50% ต่อปี จากเดิมที่ 2.43% ต่อปี โดยที่นักลงทุนต่างชาติได้กลับเข้ามาซื้อตราสารหนี้ไทยระยะยาวอย่างต่อเนื่อง และมีบางส่วนเข้าซื้อตราสารหนี้ไทยระยะสั้นเพียงเล็กน้อย

การเคลื่อนไหวของอัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ไทยระยะสั้น หรือตราสารหนี้ไทยที่มีอายุ 2 ปี คาดว่าในปี 62 จะเห็นการเคลื่อนไหวในกรอบแคบใกล้เคียงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพราะแนวโน้มของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากกนง.ยังส่งสัญญาณไม่ชัดเจน ส่วนการเคลื่อนไหวของอัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ไทยระยะยาว หรือตราสารหนี้ไทยอายุ 10 ปี คาดว่าจะมีความผันผวนสูง และมีโอกาสแกว่งตัวลงในกรอบจำกัด แม้ว่าจะอยู่ในภาวะทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้น เพราะเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มการขยายตัวที่ชะลอตัวลง ประกอบกับราคาน้ำมัน สินค้าเกษตร และอัตราเงินเฟ้อยังอยู่ไนระดับต่ำ แต่หากมีการกู้เพื่อลงทุนของภาครัฐ หรือสภาพคล่องที่ลดลง ก็อาจจะช่วยหนุนต่ออัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ไทยระยะยาวเพิ่มขึ้นได้ในบางช่วง

ด้านนายธาดา พฤฒิธาดา กรรมการผู้จัดการสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย กล่าวว่า ทิศทางของอัตราดอกเบี้ยนโยบายไทยในปี 62 คาดว่ากนง.จะไม่มีการปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งจะยังอยู่ที่ระดับ 1.75% ต่อปี ไปตลอดทั้งปี 62 เพราะปัจจุบันประเทศไทยมีการกู้ยืมเงินเป็นสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯน้อยมาก ทั้งภาครัฐและเอกชน และปัจจุบันมีมูลค่าเงินออมที่ยังมากกว่ามูลค่าเงินลงทุน และอัตราเงินเฟ้อยังคงไม่เห็นการปรับตัวขึ้นมาก หรืออาจจะยังทรงตัวจากปีก่อนที่ 1.03% ซึ่งทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายจะยังไม่เห็นการปรับเพิ่มขึ้น และทำให้อัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ไทยค่อนข้างจะไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงมากอย่างมีนัยสำคัญ และจะอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย แต่ยังต้องติดตามทิศทางของกระแสเงินทุนที่ไหลเข้าและออกว่าจะเป็นอย่างไร เพราะมีผลกระทบต่อทิศทางของอัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ไทย

ด้านความกังวลการออกหุ้นกู้ของกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งในปี 61 ที่ผ่านมามีการออกหุ้นกู้เป็นจำนวนมากที่ 3.57 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 12% ของกลุ่มธุรกิจที่มีการออกหุ้นกู้ในปี 61 และในปีนี้กลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์หลายสถาบันมองว่ามีแนวโน้มการชะลอตัวลง จากการคุมเข้มการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยของสถาบันการเงินที่มีการกำหนดเกณฑ์ LTV ใหม่ เริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 62 เป็นต้นไป มองว่าภาพรวมหุ้นกู้ของกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มีความเสี่ยงค่อนข้างน้อย เพราะมูลค่าคงค้างของหุ้นกู้กลุ่มอสังหาริมทรัพย์มีสัดส่วนคงที่มาตลอด 3 ปี และมีการต่ออายุหุ้นกู้ต่อเนื่อง และไม่ได้มีการออกมาในมูลค่าที่สูงมากของผู้ประกอบการแต่ละราย ส่วนต้นทุนดอกเบี้ยของหุ้นกู้กลุ่มอสังหาริมทรัพย์มองว่ามีผู้ประกอบการส่วนน้อยที่อัตราดอกเบี้ยการต่ออายุหุ้นจะเพิ่มขึ้น แต่เป็นการเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย แต่ส่วนใหญ่จะมีอัตราดอกเบี้ยที่ถูกลงกว่าเดิม ทำให้ยังไม่มีความกังวลเกี่ยวกับการออกหุ้นกู้ของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มาก

สำหรับภาวะตลาดตราสารหนี้ไทยในปี 61 ที่ผ่านมา ตลาดตราสารหนี้ไทยยังคงเติบโตได้ดีมีมูลค่าคงค้างรวมทะลุ 13 ล้านล้านบาทเป็นครั้งแรก โดยเพิ่มขึ้น 11.5% จาก 11.71 ล้านล้านบาทในปีก่อนหน้า มาอยู่ที่ 13.06 ล้านล้านบาท ส่วนตราสารหนี้ภาคเอกชนระยะยาว มียอดการออกทะลุ 8 แสนล้านบาทติดต่อกันเป็นปีที่ 3 โดยในปี 61 มียอดการออกสูงสุดทำลายสถิติที่ 8.78 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.2% จากปีก่อน โดยมาจากกลุ่ม Real sector ที่มีการออกเพิ่มขึ้น 18% แต่ลดลงในกลุ่ม Bank & Finance ที่ลดลง 19%

ส่วนตราสารหนี้ภาคเอกชนระยะสั้นปี 61 มีมูลค่าการออกลดลง 7% โดยภาค Real sector ที่ไม่รวมกลุ่ม Bank & Finance และการกู้ยืมภายในกลุ่มธุรกิจ ลดลง 7% จากการที่คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ปรับปรุงเกณฑ์การออกและเสนอขายตราสารหนี้ไปเมื่อเดือนเม.ย. 61 กลุ่ม Bank & Finance ออกลดลง 49% จากการลดการระดมทุนระยะสั้น ในขณะที่กลุ่มธุรกิจเดียวกันมีการกู้ยืมในรูปของตั๋วสัญญาใช้เงิน (PN) เพิ่มขึ้นกว่า 30%

ด้านกระแสเงินทุน (Fund flow) ใน 11 เดือนแรกของปี 61 มีการไหลเข้าสุทธิกว่า 1.5 แสนล้านบาท หนุนให้ยอดการถือครองของต่างชาติขึ้นสูงเป็นประวัติการณ์ทะลุ 1 ล้านล้านบาท ก่อนจะปรับลดลงมาที่ 9.85 แสนล้านบาท ณ สิ้นปี 61 หรือเท่ากับ 11.8% ของมูลค่าคงค้างรวมพันธบัตรรัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยมีกระแสเงินทุนไหลเข้าสุทธิทั้งปีที่ 1.33 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นการเข้าซื้อสุทธิในตราสารหนี้ของภาครัฐระยะยาว มูลค่า 2.39 แสนล้านบาท และไหลออกจากตราสารหนี้ภาครัฐระยะสั้นที่ถือจนครบกำหนดรวมกับการซื้อสุทธิ 1.06 แสนล้านบาท

แม้ว่าในปี 61 ตลาดจะเผชิญกับแรงกดดันของทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้นของสหรัฐฯ แต่ตลอดทั้งปี 61 อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยรุ่นอายุต่ำกว่า 10 ปี ปรับขึ้นในช่วง 0.13-0.42% ซึ่งต่ำกว่าผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯในช่วงอายุเดียวกัน ในขณะที่ผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีของไทยปรับตัวลดลง 0.3% ทำให้เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลจนถึงรุ่นอายุ 10 ปี ของไทยต่ำกว่าเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ อย่างต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 9 ม.ค. 61 จนถึงปัจจุบัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ