นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมฯ อยู่ระหว่างการดำเนินการยกเลิกประกาศและระเบียบกระทรวงพาณิชย์ที่กำกับดูแลการนำเข้าสินค้าปลาทูน่าชนิดครีบเหลืองและผลิตภัณฑ์ พ.ศ.2537 หลังได้เสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาให้ความเห็นชอบแล้ว เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน และสอดคล้องกับมาตรการของกรมประมง โดยคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในเร็วๆ นี้
ปัจจุบัน กรมประมงมีมาตรการควบคุมตรวจสอบการนำเข้าสินค้าปลาทูน่าและผลิตภัณฑ์ ภายใต้พระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 และพระราชกำหนดการประมง (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2560 ที่ตราขึ้นเพื่อป้องกันการทำประมงที่ผิดกฎหมายรองรับระเบียบ IUU Fishing (Illegal, Unreported and Unregulated Fishing) โดยกำหนดให้ผู้นำเข้าสินค้าดังกล่าวจะต้องขออนุญาตนำเข้าจากกรมประมง ซึ่งการอนุญาตจะทำได้เฉพาะเมื่อมีใบรับรองการจับสัตว์น้ำหรือเอกสารอื่นใดที่แสดงว่าสัตว์น้ำนั้นได้มาจากการทำประมงโดยชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งครอบคลุมเงื่อนไขเรื่อง การป้องกันการจับปลาทูน่าครีบเหลืองที่เป็นอันตรายต่อปลาโลมาด้วย
"การปลดล็อคดังกล่าวจะเป็นการลดความซ้ำซ้อนในการบังคับใช้กฎหมาย โดยต่อไปการขออนุญาตจะไปอยู่ที่กรมประมงเพียงแห่งเดียว ทำให้ไม่เป็นภาระแก่ผู้ประกอบการ" นายอดุลย์ กล่าว
ทั้งนี้ในแต่ละปีไทยนำเข้าปลาทูน่าสด/แช่เย็น/แช่แข็งปริมาณ 700,000-760,000 ตัน มูลค่า 41,000-45,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 97% ของปริมาณการนำเข้ารวม โดยนำเข้าชนิดหรือสายพันธุ์ท้องแถบ (Skipjack) มากที่สุด คิดเป็น 70% รองลงมา คือ พันธุ์ครีบเหลือง (Yellow Fin) พันธุ์ครีบยาว (Albacore) และพันธุ์ตาโต (Big Eye) ตามลำดับ
สำหรับประกาศกระทรวงพาณิชย์ดังกล่าวได้ออกมาเพื่อกำกับดูแลการนำเข้าสินค้าปลาทูน่าชนิดครีบเหลืองและผลิตภัณฑ์มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2537 มีวัตถุประสงค์เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการป้องกันการทำลายปลาโลมาอันเนื่องมาจากการจับปลาทูน่าดังกล่าว รวมทั้งเพื่อหลีกเลี่ยงมาตรการกีดกันทางการค้าจากประเทศคู่ค้าที่ให้ความสำคัญต่อการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล ซึ่งมาตรการดังกล่าวกำหนดให้ผู้นำเข้าปลาทูน่าชนิดครีบเหลืองและผลิตภัณฑ์ต้องมีหนังสือรับรองจากกรมประมงไปแสดงต่อกรมศุลกากรว่าสินค้าดังกล่าวไม่ได้มาจากการทำประมงด้วยอวนล้อมบริเวณเขตร้อนในมหาสมุทรแปซิฟิคตะวันออกที่เป็นอันตรายต่อปลาโลมา