(เพิ่มเติม) พาณิชย์ เผยส่งออก ธ.ค. หดตัว -1.72% จากตลาดคาด -0.6% ภาพรวมทั้งปีขยายตัว 6.7% พลาดเป้า

ข่าวเศรษฐกิจ Monday January 21, 2019 12:53 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ แถลงตัวเลขการค้าระหว่างประเทศของไทยในเดือน ธ.ค.61 โดยภาพรวมการส่งออกมีมูลค่า 19,381 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง 1.72% จากตลาดคาดว่าจะลดลง 0.6% ส่วนการนำเข้า ธ.ค.มีมูลค่า 18,316 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง 8.15% ส่งผลให้ดุลการค้า ธ.ค. เกินดุล 1,064 ล้านเหรียญฯ

ส่วนภาพรวมทั้งปี 61 การส่งออกขยายตัว 6.7% มีมูลค่า 252,486 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ส่วนนำเข้า ขยายตัว 12.51% มีมูลค่า 249,231 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ส่งผลให้ดุลการค้าปี 61 เกินดุล 3,254 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า การส่งออกของไทยในเดือนธ.ค.61 ที่ลดลง 1.72% เป็นผลมาจากแนวโน้มการค้าที่ชะลอตัวลงจากผลกระทบการส่งออกสินค้าสำคัญที่สืบเนื่องจากข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน และแนวโน้มการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยี เช่น กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์, คอมพิวเตอร์, แผงวงจรไฟฟ้า นอกจากนี้ การส่งออกไปตลาดสำคัญส่วนใหญ่มีแนวโน้มชะลอตัว โดยตลาดสหรัฐ ญี่ปุ่น และอาเซียน ที่แม้จะยังขยายตัวต่อเนื่อง แต่ก็ยังมีแนวโน้มชะลอตัวลงตามทิศทางเศรษฐกิจการค้าโลกในปี 62

สำหรับภาพรวมการส่งออกไทยในปี 61 ยังสามารถขยายตัวได้ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 ที่มูลค่า 2.52 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งถือว่ามีมูลค่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยขยายตัวจากปี 60 ที่ 6.7% ซึ่งไม่สามารถทำได้ตามเป้าหมาย 8% ที่กระทรวงพาณิชย์ตั้งไว้ ทั้งนี้ การส่งออกของไทยในช่วงครึ่งแรกปี 61 ยังขยายตัวได้ในระดับสูง ก่อนที่จะชะลอลงในช่วงครึ่งปีหลัง ตามภาวะการค้าในภูมิภาคจากปัจจัยที่มีความท้าทายสูงขึ้น ได้แก่ 1.ผลของสงครามการค้า ที่ไทยได้รับผลกระทบโดยตรงในตลาดสหรัฐ และจากการที่สินค้าไทยอยู่ในห่วงโซ่การผลิตของสินค้าจีน 2.ความผันทางเศรษฐกิจและการเงินในกลุ่มประเทศเกิดใหม่จากการปรับเปลี่ยนนโยบายทางการเงินในหลายประเทศ และ 3.ผลของฐานการส่งออกสูงในบางกลุ่มสินค้า

โดยผลกระทบสงครามการค้าต่อการส่งออกไทยปี 2561 จากมาตรการทางตรงสหรัฐฯ ลดลง 41.6% หรือเป็นผลลบต่อการส่งออก 421.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ, ผลจากห่วงโซ๋อุปทานจีน ลดลง 5.8% หรือเป็นผลลบต่อการส่งออก 438.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และ ผลทดแทนจีนในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 9.6% หรือเป็นผลบวกต่อการส่งออก 478.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

"ในช่วงครึ่งปีแรก ตลาดส่งออกสำคัญขยายตัวได้ทุกตลาด โดยเฉพาะอาเซียน และญี่ปุ่นที่โตระดับ 2 หลัก รวมทั้งสหรัฐ และสหภาพยุโรปที่ขยายตัวได้ดี แต่ช่วงครึ่งปีหลัง ภาพรวมส่งออกไทยในบางตลาดเริ่มมีแนวโน้มชะลอตัว จากผลของสงครามการค้า โดยเฉพาะกลุ่มประเทศที่เป็นห่วงโซ่การผลิตที่สำคัญของจีน เช่น ฮ่องกง เกาหลีใต้ และไต้หวัน ตลอดจนปัจจัยจากความผันผวนของตลาดการเงินในประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะตุรกี และอาร์เจนติน่า"น.ส.พิมพ์ชนก กล่าว

พร้อมระบุว่า การส่งออกในปี 61 ที่ขยายตัวได้ 6.7% ท่ามกลางหลายปัจจัยที่มีความไม่แน่นอน ถือว่าทำได้ดีแล้ว ประกอบกับสามารถกระจายการส่งออกไปยังตลาดใหม่ๆ ได้เพิ่มมากขึ้นอย่างน่าพอใจ มีสินค้าดาวรุ่งเพิ่มขึ้นมาหลายตัว เช่น ผลไม้ เครื่องดื่ม เป็นต้น

สำหรับแนวโน้มการส่งออกในปี 62 มองว่ายังมีความท้าทายจากความผันผวนและปัจจัยเสี่ยงภายนอก โดยเฉพาะประเด็นข้อพิพาททางการค้า รวมถึงเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่สำคัญมีแนวโน้มชะลอตัว ประกอบกับราคาสินค้าเกษตรยังอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากอุปทานและสต็อกของตลาดโลกยังอยู่ในระดับสูง ซึ่งภาพรวมการส่งออกไทยในช่วงครึ่งแรกของปี 62 คาดว่าจะขยายตัวได้ในระดับต่ำ ก่อนที่จะเร่งตัวขึ้นในช่วงปลายปี หากสงครามการค้ามีแนวโน้มคลี่คลาย ดังนั้นแนวทางที่กระทรวงพาณิชย์จะต้องดำเนินการ คือ เร่งเจรจาความตกลงพันธมิตรทางการค้าระดับภูมิภาค (RCEP) ให้จบโดยเร็ว เพื่อลดความเสียเปรียบทางภาษีทางการค้าจากประเทศอื่นๆ

ผู้อำนวยการ สนค. ยังกล่าวถึงเป้าหมายการส่งออกในปี 62 ที่กระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าไว้ที่ 8% ว่า หากจะทำให้ได้ตามเป้าหมายดังกล่าว การส่งออกในแต่ละเดือนของปีนี้จะต้องมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 23,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งในเรื่องนี้จะต้องรอให้ทางกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ประเมินสถานการณ์ร่วมกับทูตพาณิชย์อีกครั้งว่าเป้าหมายดังกล่าวจะยังมีความเป็นไปได้อยู่หรือไม่

อย่างไรก็ดี ยอมรับว่าภาวะเงินบาทแข็งค่ายังเป็นอีกปัจจัยที่น่ากังวลและมีผลต่อการส่งออกในปีนี้ ซึ่งสาเหตุที่เงินบาทแข็งค่าล้วนมาจากปัจจัยภายนอกที่ไม่สามารถควบคุมได้

"เราก็กังวลเรื่องบาทแข็ง แต่มันเป็นปัจจัยจากภายนอกจากที่แนวโน้มเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่า นอกจากนี้ บางประเทศอาจจะมีการปล่อยให้เงินอ่อนค่าด้วย...อย่างไรก็ดี หากสหรัฐและจีน หาทางออกในการเจรจาการค้าร่วมกันได้ดี ก็คาดว่าตั้งแต่ในช่วงไตรมาส 2 เป็นต้นไป การค้าโลกจะกลับมาเติบโตได้ เพราะขณะนี้สถานการณ์ระหว่างสหรัฐและจีน ได้ทำให้การค้าของทุกประเทศชะลอตัว" น.ส.พิมพ์ชนกระบุ

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์จะให้ความสำคัญกับการขยายตัวของการส่งออกไปยังตลาดอื่นๆ ที่มีศักยภาพ โดยจะเร่งหาตลาดใหม่เข้ามาทดแทน เพื่อขับเคลื่อนให้การส่งออกไทยไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ เช่น การขยายความร่วมมือทางการค้ากับเกาหลี อาเซีย และ CLMV ในโอกาสที่ไทยเป็นประธานอาเซียน การสร้างโอกาสการส่งออกโดยใช้กลยุทธ์ระดับพื้นที่ เจาะเมืองรองที่มีศักยภาพ รวมทั้งการพัฒนาช่องทางการขายสินค้าทั้งรูปแบบออนไลน์ และออฟไลน์ เป็นต้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ