นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง ได้เปิดเผยว่า ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อวันที่ 17 ม.ค.62 ได้มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.การดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ซึ่งเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมพ.ร.บ.การดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญา พ.ศ. 2551 ที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน เพื่อแก้ไขปัญหาอุปสรรคและข้อบกพร่องที่เป็นข้อจำกัดของการทำธุรกรรมการดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญา (Escrow) ภายใต้พระราชบัญญัติฯ
สำหรับร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ประกอบด้วย 13 มาตรา โดยมีหลักการและสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
1. การขยายขอบเขตการทำธุรกรรม การดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญา ภายใต้พระราชบัญญัติการดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญา พ.ศ. 2551 ให้ครอบคลุมการทำสัญญาต่างตอบแทนทุกประเภท เพื่อให้การทำธุรกรรมการดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญามีความหลากหลายมากขึ้น และลดอุปสรรคในทางปฏิบัติของผู้ดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญา โดย
(1) ยกเลิกบทนิยามคำว่า "คู่สัญญา" (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 3) เพื่อขยายขอบเขตให้การทำธุรกรรมให้ครอบคลุมสัญญาต่างตอบแทนทุกประเภท
(2) แก้ไขหน้าที่ของผู้ดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญา (Escrow Agent) ให้สามารถทำหน้าที่ในการดูแลรักษาเฉพาะเงิน ทรัพย์สิน หรือเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งหนี้เพียงอย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ตามความต้องการของคู่สัญญา (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 6 (4) และ (5) มาตรา 7 วรรคหนึ่ง มาตรา 18 มาตรา 19 และมาตรา 22)
2. การแก้วิธีการรับรองการฝากเงินและการแจ้งการฝากเงินไปยังคู่สัญญา เพื่อให้มีความยืดหยุ่นคล่องตัวมากขึ้น และมีความสอดคล้องกับพัฒนาการด้านเทคโนโลยีระบบการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 17 มาตรา 20 และมาตรา 24)
3. การแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติที่เกี่ยวกับการทำธุรกรรมซื้อขายห้องชุด ตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด เพื่อรองรับการทำธุรกรรมการดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญาที่เกี่ยวกับการซื้อขายห้องชุด (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 17)
4. การแก้ไขเพิ่มเติมอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการกำกับการประกอบกิจการดูแลผลประโยชน์ (คณะกรรมการฯ) ให้สามารถกำหนดหลักเกณฑ์เพื่อใช้เป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นอันเนื่องมาจากการใช้บังคับพระราชบัญญัติฯ ซึ่งจะทำให้คณะกรรมการฯ มีความคล่องตัวและสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างทันท่วงที (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 28)
5. การแก้ไขเพิ่มเติมบทกำหนดโทษทางปกครองของผู้ดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญาให้มีความครบถ้วนสมบูรณ์ยิ่งขึ้น (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 39 วรรคหนึ่ง และมาตรา 40)
6. ร่างพระราชบัญญัติฯ จะมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ทั้งนี้ การแก้ไขเพิ่มเติมพ.ร.บ.การดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญา พ.ศ. 2551 จะเป็นการส่งเสริมการทำธุรกรรมการดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญาให้มีความหลากหลายมากขึ้น และเป็นการเพิ่มทางเลือกในการคุ้มครองผลประโยชน์ทางการเงินให้แก่ประชาชนและภาคธุรกิจ เพื่อเป็นหลักประกันในการสร้างความเชื่อมั่นในการทำธุรกรรมซื้อขาย และภาคธุรกิจสามารถใช้กลไกดังกล่าวได้อย่างกว้างขวาง