นายอาชว์ เตาลานนท์ รองประธานกรรมการ เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้วางแผนส่งเสริมการปลูกในประเทศเพื่อนบ้านดังกล่าวไว้เป็นจำนวน 3.2 ล้านไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ส่งเสริมในประเทศกัมพูชา 500,000 ไร่ ประเทศลาว 300,000 ไร่ พม่า 700,000 ไร่ และเวียดนาม 1,700,000 ไร่
การปลูกในประเทศเพื่อนบ้านนั้น ยังต้องให้ความสำคัญเรื่องการขนส่งที่อาจส่งผลกระทบให้ราคาเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากประเทศเพื่อนบ้านที่ซีพีเข้าไปส่งเสริมยังมีความสามารถในการแข่งขันได้ เนื่องจากไม่เสียภาษี เพราะดำเนินการส่งเสริมภายใต้กรอบ ACMECS (Ayeyawady - Chao Phraya - Mekong Economic Cooperation Strategy) หรือ โครงการยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ อิระวดี—เจ้าพระยา-แม่โขง
โครงการดังกล่าวจัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2546โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ประโยชน์ความแข็งแกร่งและความหลากหลายของประเทศ 5 ชาติสมาชิก (กัมพูชา ลาว เมียนม่าร์ เวียดนาม และไทย) ร่วมกันทำการส่งเสริมการพัฒนาอย่างสมดุลโดยความร่วมมือในสาขาเกษตรกรรมอุตสาหกรรม ได้เลือกโครงการส่งเสริมปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์แบบ contract farming ที่มีการทำสัญญาซื้อ-ขายกันล่วงหน้าระหว่างผู้รับซื้อและเกษตรกร
นอกจากนี้ ยังมีโอกาสขยายพื้นที่อีกมาก โดยเฉพาะในประเทศลาว กัมพูชาและพม่า รวมทั้งยังมีศักยภาพในการขยายพื้นที่เข้าสู่ประเทศอินเดีย บังคลาเทศ เนปาลและปากีสถาน
ทั้งนี้ เครือเจริญโภคภัณฑ์ มีความต้องการใช้ข้าวโพดปีละประมาณ 2 ล้านตันในการผลิตอาหารสัตว์ ได้เตรียมความพร้อมโดยเข้าไปส่งเสริมการปลูกข้าวโพดในประเทศเพื่อนบ้านแล้วกว่า 3 ล้านไร่ ได้แก่ กัมพูชา ลาว เมียนม่าร์ และเวียดนาม เนื่องจากประเทศเหล่านี้มีสภาพภูมิอากาศที่คล้ายคลึงกับประเทศไทย โดยได้ถ่ายทอดเทคโนโลยี ตั้งแต่เมล็ดพันธุ์ข้าวโพด ตลอดจนวิธีทำเกษตรกรรมอันทันสมัย ส่งผลให้เกษตรกรในประเทศเพื่อนบ้านได้รับประโยชน์ทันที เป็นการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างประเทศ ขณะเดียวกันบริษัทฯก็จะได้วัตถุดิบที่มีคุณภาพมาทำการผลิต อาหารสัตว์เช่นกัน
สำหรับการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของไทยปัจจุบันมีเพียง 4 ล้านตันจากพื้นที่การผลิตรวม 6 ล้านไร่ ไม่เพียงพอต่อความต้องการที่มีอยู่ประมาณ 5.5 ล้านตัน โดยใช้เป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ในประเทศเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากพื้นที่ปลูกข้าวโพดในประเทศไทยมีจำนวนจำกัด และมีแนวโน้มลดลงเนื่องจากเกษตรกรได้หันไปปลูกพืชชนิดอื่นที่มีผลตอบแทนสูงกว่า เช่น มันสำปะหลัง อ้อย ยางพารา จึงส่งผลให้พื้นที่ปลูกข้าวโพดในประเทศไทยลดลงอย่างต่อเนื่องจากปี 2548 ที่มีพื้นที่ปลูก 5.67 ล้านไร่ ปี 2549 มีพื้นที่ปลูก 5.14 ล้านไร่ มาปี 2550 เหลือพื้นที่ปลูกเพียง 5.08 ล้านไร่เท่านั้น
ปัจจุบันข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ทั่วโลกมีราคาสูงขึ้นมากเป็นประวัติการณ์ เนื่องจากสหรัฐอเมริกาผู้ผลิตข้าวโพดอันดับ 1 ของโลก ได้ลดการส่งออกข้าวโพดลง เพื่อนำไปผลิตเอธานอลใช้เป็นพลังงานทดแทน การเปลี่ยนแปลงเช่นนี้จะส่งผลต่อเนื่อง ทำให้ปริมาณข้าวโพดที่ต้องป้อนให้แก่โรงงานอาหารสัตว์มีไม่เพียงพอต่อความต้องการ
--อินโฟเควสท์ โดย เสาวลักษณ์ อวยพร/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--