นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่า ร่าง พ.ร.บ.ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ได้ผ่านความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในวาระที่ 2 และ 3 แล้ว โดยขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการนำขึ้นทูลเกล้าฯ และรอลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพื่อให้มีผลบังคับใช้ โดยหลังจากที่ พ.ร.บ.ดังกล่าวมีผลบังคับใช้ ธอส.จะเร่งดำเนินการทันที 3 ในเรื่องที่สำคัญ คือ 1.การเปิดจำหน่ายสลากออมทรัพย์ ธอส. 2.การออกพันธบัตร ที่เป็นอำนาจของคณะกรรมการธนาคารได้เอง โดยไม่ต้องขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรี และ 3.การให้สินเชื่อที่อยู่อาศัยเพื่อผู้สูงอายุ (Reverse Mortgage)
สำหรับการเปิดจำหน่ายสลากออมทรัพย์ ธอส.นั้น คาดว่าล็อตแรกจะอยู่ที่ 50,000 ล้านบาท ประเภทอายุ 3 ปี และ 5 ปี โดยจำหน่ายราคาหน่วยละ 100 บาท และหน่วยละ 500 บาท ซึ่งหาก พ.ร.บ.ธนาคารอาคารสงเคราะห์ มีผลบังคับใช้ภายในไตรมาสแรกปีนี้ ก็คาดว่าจะสามารถเปิดจำหน่ายสลากออมทรัพย์ ธอส.ได้ราวเดือน ส.ค.62 โดยจะมีการออกรางวัลทุกวันที่ 16 ของเดือน
"หาก พ.ร.บ.มีผลภายในไตรมาสแรก เราจะมีเวลาเตรียมการประมาณ 5 เดือนถึงจะออกสลากได้ ล็อตแรก 5 หมื่นล้านบาท อายุ 3 ปี, 5 ปี มูลค่า 100 บาท และ 500 บาท ส่วนรางวัลที่จะได้รับนั้น ยังอยู่ระหว่างการคำนวณต้นทุน...เบื้องต้นมองว่ารางวัลสำหรับสลาก ถ้าให้เป็นเงินสดน่าจะสะดวกที่สุดแล้ว เพราะใช้ง่าย ดีกว่าให้รางวัลเป็นบ้าน หรือรถยนต์" นายฉัตรชัยกล่าว
พร้อมระบุว่า ธอส.ยังมีแนวคิดที่จะจำหน่ายสลากออมทรัพย์ราคาหน่วยละ 1 ล้านบาท ซึ่งเป็นสลาก premium โดยต้องการให้ถือสำหรับเป็นเงินออมระยะยาว หรือเป็นมรดกตกทอด ซึ่งการจำหน่ายสลากออมทรัพย์แบบ premium นี้จะมีการเสนอสิทธิประโยชน์ให้มากกว่าผู้ที่ซื้อสลากออมทรัพย์ในราคาทั่วไป
ส่วนการออกพันธบัตรนั้น หาก พ.ร.บ.ธนาคารอาคารสงเคราะห์ มีผลบังคับใช้ จะทำให้บอร์ด ธอส.สามารถอนุมัติการออกพันธบัตรได้เอง โดยไม่ต้องรอการขออนุมัติจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเหมือนที่ผ่านมา ซึ่งทำให้สามารถสะท้อนต้นทุนอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงของตลาดในขณะนั้นได้ดีกว่า
"การออกพันธบัตร จากนี้ไปจะไม่ต้องขอ ครม.แล้ว บอร์ด ธอส.สามารถอนุมัติออกพันธบัตรได้เอง ทำให้เราไวต่อดอกเบี้ยในตลาด ล็อกเงินได้ก่อนที่ดอกเบี้ยจะขึ้น เป็นประโยชน์ต่อผู้กู้ที่สามารถตรึงอัตราดอกเบี้ย หรือต้นทุนของธนาคารได้ก่อนที่ดอกเบี้ยจะขึ้น จากเดิมที่ขั้นตอนในการออกพันธบัตรปกติแล้วกว่าจะถึง ครม. กว่าจะได้ออกจริง ใช้เวลาค่อนข้างนาน มันไม่สะท้อนดอกเบี้ยในตลาด" นายฉัตรชัยกล่าว
ส่วนการให้สินเชื่อที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ (Reverse Mortgage) นั้น ในชั้นของกรรมาธิการได้มีข้อสังเกตให้ ธอส.ไปปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติม เช่น ในเรื่องของอัตราดอกเบี้ย, เครดิตบูโร และการให้ผู้สูงอายุสามารถอยู่อาศัยได้จนเสียชีวิต เป็นต้น ซึ่ง ธอส.ได้รับที่จะไปปรับปรุงตามข้อสังเกตของกรรมาธิการ
"ทั้ง 3 ตัวนี้ จะช่วยทำให้ ธอส.สามารถออกผลิตภัณฑ์สินเชื่อปกติได้ในราคาที่ต่ำลง ทันทีที่เรามี speed ในการออกพันธบัตร, เรามี diversify ในเรื่องของสลากออมทรัพย์ และในเรื่องสินเชื่อผู้สูงอายุที่เราจะทำ reverse mortgage ได้" กรรมการผู้จัดการ ธอส.ระบุ