ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิ้ลยู บุช ของสหรัฐได้เรียกร้องให้สภาคองเกรสเห็นชอบกับแผนการปรับลดภาษีและการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจซึ่งมีมูลค่ารวม 1.45 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมุ่งหวังที่จะช่วยสกัดกั้นมิให้เศรษฐกิจสหรัฐเข้าสู่ภาวะถดถอย
ประธานาธิบดีบุชชี้แจงว่า เงินงบประมาณจำนวนนี้ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 1 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) จะมากพอที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจขนาดใหญ่และและเคลื่อนไหวตลอดเวลาอย่างสหรัฐ ซึ่งแม้ว่าจะเป็นมาตรการชั่วคราว แต่หากมีการบังคับใช้ก็จะส่งผลให้เศรษฐกิจของสหรัฐเติบโตต่อไปและมีการสร้างงานมากขึ้นในทันที
อย่างไรก็ตาม บุชไม่ได้กล่าวลึกลงไปในรายละเอียด เพียงแต่เปิดเผยถึงหลักการคร่าวๆที่ต้องการให้รัฐบาลวางแผนในการสร้างแรงจูงใจด้านภาษีให้นักธุรกิจได้มีโอกาสลงทุน หรือมีการสร้างงานมากขึ้น และการลดหย่อนภาษีให้กับประชาชน เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับเศรษฐกิจสหรัฐ
"แม้ว่าสหรัฐจะมีพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง แต่ขณะเดียวกันก็ยังมีหลายด้านที่เรากังวล ซึ่งนักวิเคราะห์และผู้เชี่ยวชาญหลายฝ่ายมองว่า เศรษฐกิจในประเทศจะยังคงขยายตัวต่อไปในอนาคต เพียงแต่อาจชะลอตัวจากระดับที่ขยายตัวขึ้นอย่างแข็งแกร่งเมื่อช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา และอาจมีความเสี่ยงที่จะเผชิญช่วงขาลง
สำนักข่าวซินหัวรายงานโดยอ้างการเปิดเผยของทำเนียบขาวว่า บุชและสมาชิกสภาคองเกรสได้จัดประชุมขึ้นเมื่อวันพฤหับดีที่ผ่านมาเพื่อหารือถึงช่องทางในการกำหนดแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยมีแนวคิดเรื่องการลดอัตราภาษี และมาตรการกระตุ้นภาคธุรกิจเป็นหลัก"
ทั้งนี้ ภายใต้แนวคิดดังกล่าว บุชได้เสนอคืนเงินภาษีแก่ประชาชนจำนวน 800 ดอลลาร์สหรัฐต่อคน และ 1,600 ดอลลาร์สหรัฐต่อคู่สมรส แต่สภาคองเกรสต้องการให้ตัวเลขการลดหย่อนภาษีน้อยลงกว่าที่ได้เสนอมา เพื่อที่ว่ารัฐจะได้ไม่ต้องแบกรับต้นทุนมากขึ้น
--อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย อรษา สงค์พูล โทร.0-2253-5050 อีเมล์: orasa@infoquest.co.th--