นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยถึงการจดทะเบียนธุรกิจเดือน ธ.ค.61 และประจำปี 2561 พบว่า ในเดือนธ.ค.61 มีผู้ประกอบธุรกิจยื่นขอจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วน บริษัทใหม่ทั่วประเทศ จำนวน 4,102 ราย เมื่อเทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2561 จำนวน 5,539 ราย ลดลงจำนวน 1,437 ราย คิดเป็น 26% ซึ่งเป็นสถานการณ์ปกติของการจดทะเบียนในช่วงสิ้นปีที่มีลักษณะตามแนวโน้มฤดูกาล (Seasonal Trend) ที่ลดลง และเมื่อเทียบกับเดือนธันวาคม 2560 จำนวน 6,305 ราย ลดลงจำนวน 2,203 ราย คิดเป็น 35% เนื่องจากปีที่ผ่านมา การจัดตั้งธุรกิจเพิ่มขึ้นมากจากมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมให้บุคคลธรรมดาประกอบธุรกิจในรูปแบบนิติบุคคลของกรมสรรพากร
ส่งผลให้ในปี 2561 มีจำนวนธุรกิจตั้งใหม่สะสมตั้งแต่เดือน ม.ค.- ธ.ค.61 ทั้งสิ้น 72,109 ราย เมื่อเทียบกับปี 2560 ที่มีจำนวน 74,517 ราย โดยลดลง 2,408 ราย คิดเป็น 3% แม้ว่าในปี 2561 จะยังคงมีมาตรการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการจัดตั้งธุรกิจในรูปแบบนิติบุคคล แต่ได้มีการปรับลดความเข้มข้นของมาตรการบางส่วนลง เช่น การยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะ อากรแสตมป์ และค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนนิติกรรมที่ดิน เป็นต้น จึงเป็นเหตุให้จำนวนธุรกิจจัดตั้งใหม่ในปี 2561 ลดลงเล็กน้อยจากปี 2560
ทั้งนี้ ประเภทธุรกิจจัดตั้งใหม่สูงสุด 3 อันดับแรกของเดือนธ.ค.61 ได้แก่ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 372 ราย คิดเป็น 9% รองลงมา คือ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป 322 ราย คิดเป็น 8% และอันดับ 3 คือ ธุรกิจขายปลีกสินค้าอื่น ๆ ในร้านค้าทั่วไป 118 ราย คิดเป็น 3% ขณะที่ประเภทธุรกิจจัดตั้งใหม่สูงสุด 3 อันดับแรกในปี 2561 ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป 6,578 ราย คิดเป็น 9% รองลงมา คือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 4,394 ราย คิดเป็น 6% และอันดับ 3 คือ ธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร 2,058 ราย คิดเป็น 3%
ส่วนประเภทธุรกิจที่เลิกประกอบกิจการสูงสุดในเดือนธ.ค.61 ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป 515 ราย คิดเป็น 9% รองลงมาคือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 252 ราย คิดเป็น 5% และธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร 135 ราย คิดเป็น 2% ขณะที่ธุรกิจเลิกประกอบกิจการสูงสุด 3 อันดับแรกในปี 2561 ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป 2,042 ราย คิดเป็น 9% รองลงมาคือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 1,269 ราย คิดเป็น 6% และธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร 566 ราย คิดเป็น 3%
"การเติบโตของการจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนบริษัทตลอดปี 2561 มีความสอดคล้องกับนโยบายของภาครัฐในการสนับสนุนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ และการขยายตัวของการใช้จ่าย เพื่อการอุปโภคบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชน รวมทั้ง ยังได้รับปัจจัยสนับสนุนจากมูลค่าการส่งออกที่มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งปีแรก และการขยายตัวโดยรวมของรายได้จากการเข้ามาของนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศ ซึ่งถือเป็นอีกปัจจัยสำคัญในการสนับสนุนการเจริญเติบโตและการขยายตัวของธุรกิจจัดตั้งใหม่ในปี 2561" นายวุฒิไกรกล่าว
สำหรับในปี 2562 เมื่อพิจารณาอัตราการเติบโตของการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจย้อนหลัง 7 ปี (2559 – 2561) พบว่า มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 4.1% ผนวกกับสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้คาดการณ์ GDP ปี 2562 ไว้ที่ 3.5 - 4.5% และการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกไว้ที่ 3.8% ซึ่งสอดคล้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกับค่าเฉลี่ยอัตราการเติบโตของการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจย้อนหลัง 7 ปี ขณะที่มาตรการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการจัดตั้งธุรกิจในรูปแบบนิติบุคคลได้สิ้นสุด ณ 31 ธันวาคม 2561 ดังนั้น เมื่อพิจารณาปัจจัยด้านเศรษฐกิจในประเทศและต่างประเทศ และแนวโน้มการประกอบธุรกิจในรูปแบบของนิติบุคคลที่เติบโตเพิ่มสูงขึ้นจากการสนับสนุนจากภาครัฐและการสร้างความน่าเชื่อถือในการประกอบธุรกิจ ประกอบกับค่าเฉลี่ยอัตราการเติบโตของการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจ จึงประมาณการยอดการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจปี 2562 จะใกล้เคียงกับปี 2561 อยู่ที่ 70,000 ราย
อย่างไรก็ตาม ยังต้องพิจารณาถึงปัจจัยทางเศรษฐกิจอื่นๆ ตลอดทั้งปีด้วย ไม่ว่าจะเป็นความผันผวนของเศรษฐกิจโลก สถานการณ์การค้าระหว่างประเทศ และความชัดเจนทางการเมือง ซึ่งจะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงและความมั่นใจในการจัดตั้งธุรกิจใหม่ในปี 2562 ซึ่งกรมจะได้เร่งดำเนินการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเข้ามาจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งจะสนับสนุนและส่งเสริมให้นิติบุคคลมีศักยภาพในการทำธุรกิจ ทั้งด้านการบริหารองค์กร การจัดการทางการเงิน การตลาด โดยจะบูรณาการความร่วมมือร่วมกับหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน หน่วยธุรกิจ และ startup ต่างๆ เพื่อให้นิติบุคคลเข้าถึงการใช้งานโปรแกรมเทคโนโลยี และองค์ความรู้ที่จำเป็นต่อการประกอบธุรกิจด้วยต่อไป