นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า การส่งออกข้าวโพดหวานและผลิตภัณฑ์ในช่วง 11 เดือนของปี 2561 (ม.ค.-พ.ย.) มีปริมาณ 236,775.6 ตัน เพิ่มขึ้น 6.7% มูลค่า 7,329.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.2% โดยเป็นการส่งออกไปญี่ปุ่นมากเป็นอันดับหนึ่ง คิดเป็น 26.5% รองลงมา ได้แก่ เกาหลีใต้ 10.2% และไต้หวัน 10.1% ของมูลค่าการส่งออก และมั่นใจว่าการส่งออกทั้งปีจะสูงกว่าปี 2560 ที่ส่งออกได้ปริมาณรวม 237,559.6 ตัน เพิ่มขึ้น 3.5% มูลค่า 7,664.9 ล้านบาท ลดลง 0.6% เนื่องจากค่าเงินบาทที่แข็งขึ้น
"ผลจากการส่งออกข้าวโพดหวานและผลิตภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ไทยครองแชมป์ส่งออกอันดับ 1 ของโลกมาอย่างต่อเนื่องในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โดยมีประเทศคู่แข่งสำคัญ คือ ฝรั่งเศส ฮังการี และสหรัฐฯ แต่ก็สู้ไทยไม่ได้ เพราะไทยมีศักยภาพในการผลิตข้าวโพดหวานที่มีคุณภาพ และมีรสชาติที่ดีกว่า ตลอดจนมีการพัฒนาสายพันธุ์จนเป็นที่ยอมรับในตลาดโลก อีกทั้งมีข้อได้เปรียบในเรื่องของสภาพภูมิประเทศ และภูมิอากาศที่เหมาะสมต่อการปลูกข้าวโพดหวาน ส่งผลให้มีความได้เปรียบในเรื่องช่วงเวลาการเพาะปลูกที่สามารถปลูกได้หลายครั้งในหนึ่งปี ขณะที่ประเทศคู่แข่งสามารถปลูกได้เพียงปีละหนึ่งครั้งเท่านั้น" นายอดุลย์กล่าว
ส่วนประเทศคู่แข่งในเอเชีย เช่น เวียดนาม และจีน ซึ่งมีสภาพภูมิอากาศคล้ายไทย และมีการผลิตข้าวโพดหวานเพื่อส่งออกได้บ้าง แต่คุณภาพไม่ได้มาตรฐานตามความต้องการของตลาดโลก จึงทำให้ข้าวโพดหวานของไทยยังคงเป็นที่ต้องการและเป็นที่ยอมรับของตลาดโลก โดยตลาดส่งออกหลักของไทยมีทั้งกลุ่มประเทศในเอเชีย ตะวันออกกลาง และรัสเซีย ซึ่งตลาดเอเชียจะได้เปรียบในเรื่องต้นทุนการขนส่งที่ถูกกว่า แต่ตลาดตะวันออกกลาง และรัสเซีย เป็นตลาดที่มีศักยภาพด้านกำลังซื้อสูง
นายอดุลย์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาแม้ไทยจะประสบปัญหาอุปสรรคในการส่งออกข้าวโพดหวานไปยังสหภาพยุโรป จากการใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti-dumping Duty : AD) มาตั้งแต่ปี 2550 และปัจจุบันถูกเรียกเก็บอากร AD ในอัตรา 3.1-14.3% แต่ก็ไม่กระทบต่อการส่งออกของไทย โดยไทยยังสามารถส่งออกข้าวโพดหวานไปยังสหภาพยุโรปได้อย่างต่อเนื่อง แต่ในปริมาณไม่มากนัก
โดยปี 2561 (ม.ค.-พ.ย.) ไทยส่งออกข้าวโพดหวานและผลิตภัณฑ์ไปสหภาพยุโรปมูลค่า 634.4 ล้านบาท คิดเป็น 9.5% ของการส่งออกไปทั่วโลก โดยส่งออกไปสหราช อาณาจักรมากเป็นอันดับหนึ่ง คิดเป็น 3.8% รองลงมา ได้แก่ สวีเดน 1.7% และเยอรมนี 1.2%
ทั้งนี้ แม้ตลาดตลาดสหภาพยุโรปจะไม่ใช่ตลาดส่งออกหลัก แต่สหภาพยุโรปก็เป็นหนึ่งในตลาดที่สำคัญและมีศักยภาพของไทย และหากในอนาคตสหราชอาณาจักรแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) อาจทำให้ไทยสามารถส่งออกไปยังสหราชอาณาจักรได้เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากไม่ถูกเรียกเก็บอากร AD ซึ่งกรมฯ จะมีการติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิดต่อไป