นายทิม ลีฬหะพันธุ์ นักเศรษฐศาสตร์ประจำ ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) กล่าวว่า ปัจจัยจากการเลือกตั้งเป็นแรงหนุนต่อภาพรวมของของประเทศไทย โดยที่ตลาดหุ้นไทยเมื่อวานนี้ได้ตอบรับปัจจัยบวกจากความชัดเจนของการเลือกตั้ง ซึ่งได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นสวนทางกับตลาดหุ้นภูมิภาคและต่างประเทศ หลังวานนี้ (23 ม.ค.) มีความชัดเจนเกี่ยวกับการเลือกตั้งของไทยออกมาแล้ว และทางคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้กำหนดวันเลือกตั้งวันที่ 24 มี.ค. 62
หลังจากการเลือกตั้งมีความชัดเจนแล้วมองว่าจะช่วยหนุน sentiment ระยะสั้นของประเทศไทย ซึ่งในช่วงก่อนการเลือกตั้ง ที่มีการหาเสียงของพรรคการเมืองต่างๆ จะเห็นการบริโภคและการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนในต่างจังหวัดกลับมาคึกคักมากขึ้น ในขณะที่ด้านตลาดทุนและตลาดหุ้นก็มีโอกาสที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นในระยะสั้น จากความเชื่อมั่นว่าประเทศไทยสามารถเดินหน้าไปสู่การเลือกตั้งได้
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องติดตามและจะมีผลในระยะยาวที่จะเกิดขึ้นหลังการเลือกตั้งนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญ โดยเฉพาะเสถียรภาพของรัฐบาลชุดใหม่ที่เป็นสิ่งที่มีความสำคัญ เพราะจะมีผลต่อการดำเนินนโยบายต่างๆ ความมั่นคงและความเชื่อมั่นของประเทศ ซึ่งหากรัฐบาลชุดใหม่มีความเสถียรภาพมากจะส่งผลต่อการต่อเนื่องของการดำเนินนโยบาย ซึ่งจะมีผลต่อการเบิกจ่ายและการลงทุนต่างๆ ช่วยผลักดันเศรษฐกิจไทย และสร้างความเชื่อมั่นให้เพิ่มมากขึ้น
"ความชัดเจนของการเลือกตั้งที่ออกมาเมื่อวานนี้ เป็นผลบวกต่อ sentiment ระยะสั้นของประเทศ เพราะเป็นสิ่งที่ทุกคนรอมานาน แต่หลังจากการเลือกตั้งต้องติดตาม Senerio ของรัฐบาลชุดใหม่ ว่าจะมีเสถียรภาพมากน้อยแค่ไหน ซึ่งหากรัฐบาลชุดใหม่มีเสถียรภาพมากก็จะส่งผลต่อการดำเนินนโยบายที่ต่อเนื่อง ทำให้ความเชื่อมั่นมากขึ้น และช่วยหนุนเศรษฐกิจของประเทศเติบโตได้"นายทิม กล่าว
ด้านแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 62 คาดว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทย (GDP) จะขยายตัวได้ 4.5% โดยที่ในปีนี้การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยจะเป็นการขยายตัวได้จากปัจจัยขับเคลื่อนภายในประเทศ ได้แก่ การลงทุนของภาครัฐ และการบริโภคในประเทศ ซึ่งเข้ามาชดเชยกับปัจจัยด้านการส่งออกและการท่องเที่ยวที่ยังเผชิญกับความไม่แน่นอน และยังมีแนวโน้มที่ยังไม่ค่อยดีนักในปี 62 ซึ่งภาคการท่องเที่ยวไทยในปีนี้ยังมีความน่าเป็นห่วงมาก จากการที่ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นมาก ปัญหามลพิษจากฝุ่น และการเปลี่ยนพฤติกรรมการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวจีน ทำให้ในปีนี้การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยจะต้องหันกลับมาพึ่งพาปัจจัยภายในประเทศแทน เพื่อผลักดันการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย
นายทิม กล่าวว่า ทิศทางของค่าเงินบาทในปี 62 นี้ มองว่าจะมีทิศทางอ่อนค่า โดยในช่วงกลางปีคาดว่าจะอยู่ที่ 33 และที่ 33.50 บาท/ดอลลาร์ในช่วงสิ้นปี จากปัจจุบันที่ค่าเงินบาทถือว่าแข็งค่ามากที่สุดในเอเชีย ซึ่งแข็งค่าขึ้นราว 3% มาที่ 31.70 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ
โดยมีปัจจัยมาจากการอ่อนค่าของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ หลังจากที่ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ออกมาส่งสัญญาณว่าจะชะลอการขึ้นอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ ลง ซึ่งคาดว่าจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ในปี 62 เพียง 2 ครั้ง จากปีก่อนที่ 4 ครั้ง ทำให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลง
อีกทั้งการที่มีกระแสเงินทุนไหลเข้ามาสู่ประเทศไทยมากขึ้นในช่วงต้นปีที่ผ่านมา จากการคาดการณ์ความชัดเจนของการเลือกตั้ง ประกอบกับการที่ประเทศไทยมีดุลบัญชีเดินสะพัดที่มีการเกินดุลในระดับสูง ทำให้มีเงินไหลเข้ามาพักไนประเทศไทย โดยเฉพาะในตลาดพันธบัตรเป็นจำนวนมาก ทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น แต่หากในช่วงกลางปี 62 สหรัฐฯ ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย คาดว่าจะมีกระแสเงินทุนไหลออกไปบางส่วน เพราะอัตราดอกเบี้ยของไทยอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าสหรัฐฯ ทำให้เงินทุนจะเคลื่อนย้ายไปที่ตลาดที่ให้ผลตอบแทนมากกว่า และทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงตั้งแต่ช่วงกลางปี 62
สำหรับทิศทางการพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คาดว่าในปี 62 จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 2 ครั้ง ในช่วงครึ่งปีแรก 1 ครั้ง และในช่วงครึ่งปีหลังอีก 1 ครั้ง แม้ว่าปัจจุบันธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะมีมาตรการออกมาควบคุมความเสี่ยงและการเก็งกำไร โดยล่าสุดได้ออกมาควบคุมการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัย แต่จริงๆ แล้วมองว่ามาตราการดังกล่าวของ ธปท.อาจจะยังไม่เพียงพอ เพราะรากฐานของความเสี่ยงและการแสวงหากำไร (search for yeild) มาจากการที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยยังอยู่ในระดับต่ำ ทำให้คาดว่าจะเห็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปี 62 รวม 2 ครั้ง
ทั้งนี้ ยังมีสิ่งที่ต้องจับตาเกี่ยวกับการปรับอันดับเครดิตเรตติ้งของประเทศไทยจากสถาบันจัดอันดับเครดิตเรตติ้งระดับโลก ที่มีโอกาสถูกปรับเครดิตเรตติ้งเพิ่มขึ้นไปที่ระดับ A- หรือ A ซึ่งเป็นระดับเครดิตเรตติ้งที่ประเทศไทยเคยได้รับก่อนวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง โดยปัจจุบันเอสแอนด์พี และฟิทช์ เรตติ้ง จัดอันดับเครดิตเรตติ้งประเทศไทยอยู่ที่ BBB+ และมูดีส์ อยู่ที่ Baa1 ซึ่งเป็นอันดับเดียวกัน โดยโอกาสในการปรับอันดับเครดิตเรตติ้งของไทยขึ้นนั้น มาจากผลงานในอดีตของประเทศไทยที่เศรษฐกิจสามารถขยายตัวได้เฉลี่ย 4% ต่อปีต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลา 4 ปี