ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า จากการที่สหภาพยุโรป (EU) เพิกถอนสถานะใบเหลืองให้ไทย หลังผลการแก้ไขปัญหา IUU Fishing เป็นรูปธรรม น่าจะเป็นหนึ่งปัจจัยที่ช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์การส่งออกสินค้าประมงไปยังตลาด EU ให้ปรับตัวดีขึ้น โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า หากไม่มีปัจจัยที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อการผลิตสินค้าประมง โดยเฉพาะปัญหาภัยธรรมชาติ โรคระบาด มูลค่าการส่งออกสินค้าประมงของไทยไปยังตลาด EU ปี 2562 น่าจะมีโอกาสพลิกกลับมาอยู่ในแดนบวกได้อีกครั้งในรอบ 8 ปี คิดเป็นมูลค่าประมาณ 400-410 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือขยายตัว 0.0-2.0% (YoY)
ย้อนดูการส่งออกสินค้าประมงไทยไปยังตลาด EU ในระยะ 8 ปีที่ผ่านมา พบว่า หดตัวและมีส่วนแบ่งตลาดลดลงอย่างต่อเนื่อง หลักๆ มาจากการเผชิญการแข่งขันด้านการค้าที่รุนแรง โดยเฉพาะกับคู่แข่งสำคัญอย่าง เวียดนาม ที่แม้ว่าปัจจุบันจะยังคงสถานะโดนใบเหลืองอยู่ แต่ยอดการส่งออกไปยังตลาด EU ยังเติบโตได้ อีกทั้งยังได้รับสิทธิพิเศษทางภาษี GSP และหากมีผลบังคับใช้ของข้อตกลงการค้าเสรีเวียดนามกับEU หรือ EU-VN FTA คาดว่าจะทำให้เวียดนามได้เปรียบจากการยกเว้นด้านภาษีนำเข้าสินค้าประมงไปยังตลาด EU มากขึ้นในระยะข้างหน้า ในขณะที่สินค้าประมงของอินเดียและเอกวาดอร์ ก็ได้รับสิทธิพิเศษทางภาษี GSP เช่นกัน ทำให้ส่วนแบ่งตลาดใน EU เพิ่มขึ้น ดังนั้น ประเด็นด้านภาษีและและสิทธิพิเศษทางการค้า จึงเป็นหนึ่งปัจจัยทำให้ไทยค่อนข้างเสียเปรียบคู่แข่งในตลาด เพราะปัจจุบันยังต้องเสียภาษีนำเข้าที่ 7.6-17.0% ในกลุ่มสินค้าประมงสด (HS 03) และ 5.5-25.0% ในกลุ่มอาหารทะแลแปรรูป (HS 1604,1605) สำหรับการส่งออกไปยัง EU
เมื่อวิเคราะห์ลึกลงไปในรายสินค้า จะพบว่า สินค้าประมงส่งออกหลักของไทย ถูกกดดันด้วยการแข่งด้านราคาจาก 1) ผลผลิตที่เพิ่มขึ้นของแต่ละประเทศผู้ผลิต ไม่ว่าจะเป็นเอกวาดอว์และอินเดีย ที่สามารถเพิ่มปริมาณผลผลิตประมงสดได้อย่างต่อเนื่อง จากการเพิ่มพื้นที่เพาะเลี้ยงและพัฒนาเทคโนโลยีด้านการผลิตสัตว์น้ำ ส่งผลให้มีวัตถุดิบเพียงพอในการผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ โดยเฉพาะกุ้ง หรือเวียดนามที่แม้ว่าจะขาดแคลนวัตถุดิบเช่นเดียวกับไทย แต่มีแผนและนโยบายจะขยายพื้นที่การผลิตเพื่อทดแทนจากนำเข้าวัตถุดิบมากขึ้น เช่น นโนบายเปลี่ยนนาข้าวเป็นนากุ้ง เป็นต้น ในขณะที่ไทย หลังจากการระบาดของโรคกุ้งตายด่วน (EMS) ทำให้ยอดการส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งของไทยไปตลาด EU ลดลงมากกว่าครึ่ง แม้ว่าสถานการณ์ปัจจุบันจะปรับตัวดีขึ้น แต่ยังมีข้อจำกัดด้านวัตถุดิบที่ลดลงจากสภาพอากาศแปรปรวน และการแข่งขันด้านราคาที่ไทยเองมีต้นทุนที่สูงกว่า
ส่วนในกลุ่มอาหารทะเลแปรรูป แม้ว่าปัจจุบันจะมีการเข้าไปลงทุนของผู้ประกอบการรายใหญ่ของไทยในประเทศที่เป็นแหล่งวัตถุดิบ ทำให้มีปลาทูน่าเข้าสู่กระบวนการแปรรูปมากขึ้น แต่ไทยเองยังคงเผชิญกับความไม่สม่ำเสมอของอุปทานปลาทูน่าโลกอยู่ ซึ่งกระทบต่อความไม่เพียงพอและความผันผวนของราคาของวัตถุดิบในการผลิตอาหารทะแลแปรรูป
2) ต้นทุนแรงงานที่อยู่ในระดับสูงกว่าคู่แข่ง ทำให้ไทยมีต้นทุนการผลิตรวมสูงกว่าคู่แข่ง เช่น ในการผลิตกุ้งแช่เย็นแช่แข็ง ต้นทุนการผลิตรวมอยู่ที่ 100 บาท/กก. ในขณะที่คู่แข่งอย่างเวียดนาม อินเดีย อยู่ที่ 95.9 และ 84.2 บาท/กก. ตามลำดับ ปัจจัยดังกล่าว กระทบต่อปริมาณการผลิตและและยอดคำสั่งซื้อ
3) ค่าของเงินบาทที่แข็งค่าทำให้ไทยเสียเปรียบในเรื่องของราคาสินค้าส่งออก เพราะสินค้าส่งออกประมงจะมีราคาสูงเมื่อเทียบกับคู่แข่งอื่นๆ ในตลาด โดยตั้งแต่ต้นปี 2561 ถึงวันที่ 23 มกราคม 2562 เงินบาทไทยปรับแข็งค่าขึ้น 2.7% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ ในขณะที่ค่าเงินรูปีของอินเดียและเงินด่องของเวียดนามอ่อนค่า 10.4% และ 1.1% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ ตามลำดับ ส่งผลต่อการตั้งราคาสินค้า รวมถึงกระทบต่อรายได้และกำไรในรูปของเงินบาท
จากปัจจัยดังกล่าว ทำให้ในปีที่ผ่านมา ยอดการส่งออกสินค้าประมงไทยไปตลาด EU อยู่ในระดับต่ำสุดในประวัติการณ์หรือมีมูลค่าทั้งสิ้น 394.80 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวอยู่ที่ 9.0% (YoY)
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า การที่ EU ประกาศยกเลิกสถานะใบเหลือง (Yellow card) ให้แก่ไทย เมื่อวันที่ 8 ม.ค. 2562 สะท้อนให้เห็นผลสำเร็จของภาครัฐในการแก้ไขปัญหาประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (Illegal, Unreported, and Unregulated Fishing: IUU Fishing) ตลอดระยะเวลาเกือบ 4 ปีที่ผ่านมา (21 เม.ย. 2558 - 8 ม.ค. 2562) เช่น ในด้านกฏหมาย มีการออก พ.ร.ก. การประมง พ.ศ. 2558 และ พ.ร.ก. การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 เพื่อแก้ปัญหาการทำประมงที่ผิดกฎหมาย เป็นต้น
ส่วนประเด็นที่ต้องติดตามต่อไป สำหรับการส่งออกสินค้าประมงไปยังตลาด EU ของไทย น่าจะยังเป็นเรื่องของอัตราการแลกเปลี่ยน ที่ค่าเงินบาทแข็งค่าอาจทำให้ไทยเสียเปรียบคู่แข่ง ตลอดจนมาตรการกีดกันการค้า โดยเฉพาะความเข้มข้นด้านคุณภาพและมาตรฐานของสินค้าเพื่อปกป้องทางการค้า (ทั้งในรูปแบบที่เป็นภาษีและไม่ใช่ภาษี) เช่น การเก็บภาษีนำเข้าเพิ่มขึ้น หรือการเพิ่มข้อกำหนดในการนำเข้าสินค้า ที่อาจทำให้ความสามารถในการแข่งขันด้านราคาของไทยลดลง นอกจากนี้ อาจจะต้องจับตาภาวะเศรษฐกิจของสหภาพยุโรปที่อาจจะกระทบกับพฤติกรรมของผู้บริโภค โดยเฉพาะกลุ่มผู้ซื้อรายใหญ่ เช่น โรงงานผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป โรงแรม ร้านอาหารขนาดใหญ่ อาจมองหาแหล่งผลิตสินค้าประมงที่มีราคาถูกกว่าในระดับและคุณภาพไม่แตกต่างจากไทย หรือสินค้าของผู้ประกอบการไทยเอง ที่เข้าไปลงทุนหรือมีฐานการผลิตใน EU (ซึ่งราคาถูกกว่าสินค้าประมงนำเข้าที่ส่งออกจากไทย) อย่างไรก็ดี ในกลุ่มสินค้าอาหารทะเลแปรรูป (เช่น ทูน่ากระป๋อง) ที่ส่วนใหญ่จะเจาะตลาดผู้บริโภคระดับกลาง-ล่าง อาจจะได้อานิสงส์จากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่อ่อนไหวต่อราคาสินค้า ในภาวะเศรษฐกิจที่ไม่สดใสนัก
จากปัจจัยดังกล่าว อาจส่งผลให้ยอดการส่งออกสินค้าประมงจากไทยไป EU ในระยะต่อไป อาจจะไม่ได้โตแบบก้าวกระโดดมากนัก โดยเฉพาะกับสินค้าประมงที่มีลักษณะไม่แตกต่างจากคู่แข่ง จึงเป็นความท้าทายของผู้ประกอบการที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการของตลาด หรือเทรนด์การบริโภคของคนยุโรปที่จะเกิดขึ้นในระยะต่อไป
สำหรับภาพรวมการส่งออกสินค้าประมงของไทย ปี 2562 นอกจากปัจจัยบวกในตลาด EU เรื่องของการปลดล็อคใบเหลืองให้แก่ไทยแล้ว การส่งออกไปยังตลาดจีน ก็มีแนวโน้มที่จะขยายตัวดีต่อเนื่องจากปีก่อน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากอุปทานที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการของคนในประเทศ แม้ยังต้องติดตามประเด็นข้อพิพาททางการค้าระหว่างจีน-สหรัฐฯ และแนวโน้มเศรษฐกิจจีนที่เติบโตชะลอลงก็ตาม ขณะที่ส่วนแบ่งตลาด EU และจีนรวมกันคิดเป็นราว 12% ของการส่งออกสินค้าประมงไทยไปยังตลาดโลก