นางวจีทิพย์ พงษ์เพชร ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.ได้จัดเวทีชี้แจงถึงหลักเกณฑ์ที่ ธปท.จะใช้เป็นแนวทางการกำกับดูแลสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน เพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจปล่อยสินเชื่อได้รับทราบถึงแนวทางและกติกาที่ชัดเจนในระหว่างที่ยังรอให้หลักเกณฑ์ดังกล่าวลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งคาดว่าจะเริ่มมีผลบังคับใช้ราวปลายเดือน ม.ค. หรือต้นเดือน ก.พ.62
"เป็นการชี้แจงหลักเกณฑ์ที่ ธปท.จะใช้ในการกำกับดูแลสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกันว่ากติกาที่จะใช้เป็นอย่างไรบ้าง ขณะเดียวกันผู้ประกอบการที่ยังไม่มีใบอนุญาตจะได้รับทราบถึงกระบวนการในการเข้ามายื่นขอใบอนุญาตว่าต้องดำเนินการอย่างไร ทำความเข้าใจกับผู้ประกอบการที่จะขอใบอนุญาตในส่วนของ personal loan และอยากสื่อให้ลูกค้าทราบว่า จากนี้ไปกติกาที่ ธปท.จะใช้ในการดูแลนี้ จะมีหลายประเด็นที่คุ้มครองผู้บริโภค ช่วยให้ผู้บริโภคมีสิทธิรับรู้ข้อมูลที่ชัดเจน เพื่อได้ใช้ตัดสินใจในการขอสินเชื่อ" นางวจีทิพย์ กล่าว
พร้อมระบุว่า ธุรกิจให้บริการสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกันถือว่าเป็นแหล่งเงินทุนที่มีความสำคัญแก่ประชาชนในระดับฐานรากที่มีรถอยู่ในความครอบครองและมีความจำเป็นต้องใช้เงิน หรือขอสินเชื่อในระยะสั้นๆ เพื่อนำไปใช้จ่าย หรือเป็นเงินสดหมุนเวียน รวมทั้งนำไปใช้จ่ายในกรณีฉุกเฉิน ซึ่งกฎเกณฑ์กติกาที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ธปท.นี้จะทำให้มีการคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภค ขณะเดียวกันยังสร้างกติกาการแข่งขันให้เกิดความเป็นธรรม และที่สำคัญจะมีส่วนช่วยลดปัญหาหนี้นอกระบบลงได้
"ประโยชน์ต่อลูกค้าคือจะได้ประโยชน์เต็มที่ เพราะหากได้สินเชื่อก็จะได้รับการคิดอัตราดอกเบี้ยที่ปรับลดลงมาในระดับมาตรฐานที่ไม่เกิน 28% และได้รับสิทธิต่างๆ ที่สำคัญคือ สิทธิในการรับข้อมูล ส่วนในแง่ผู้ประกอบการ จะทำให้ทุกคนอยู่ในกติกาการแข่งขันที่เป็นธรรม และที่สำคัญคือช่วยแก้ปัญหาหนี้นอกระบบได้อย่างยั่งยืน" นางวจีทิพย์ ระบุ
สำหรับสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกันนี้ หมายถึง สินเชื่อที่ผู้ประกอบธุรกิจรับเอาสมุดคู่มือทะเบียนรถมาเป็นประกันการชำระหนี้ โดยที่ลูกหนี้ยังคงเป็นเจ้าของรถและมีรถไว้ใช้อยู่ ซึ่งประเภทรถที่นำมาเป็นประกัน ได้แก่ รถยนต์นั่ง, รถจักรยานยนต์, รถเพื่อการเกษตร, รถโดยสาร และรถบรรทุก เป็นต้น
ทั้งนี้ ผู้ประกอบธุรกิจ Personal Loan ระดับประเทศที่ต้องการจะให้บริการสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ธปท.จะต้องมีทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่า 50 ล้านบาท วงเงินสินเชื่อไม่ได้กำหนดไว้ ขึ้นอยู่กับความสามารถในการชำระหนี้ โดยมีเพดานดอกเบี้ยที่คิดรวมค่าธรรมเนียมตามที่ ธปท.กำหนดแล้ว (ค่าติดตามทวงถามหนี้, ค่าอากรแสตมป์, ค่าใช้จ่ายกรณีเช็คคืน) ต้องไม่เกิน 28% ต่อปี ซึ่ง ธปท.จะเข้ามากำกับดูแลให้เกิดความโปร่งใส เช่น กรณีการเปิดเผยอัตราดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียม การจัดทำสัญญา ตารางแสดงภาระหนี้ ใบเสร็จรับเงิน โดยการแจ้งภาระหนี้ต่อลูกค้าจะต้องแจ้งเตือนล่วงหน้าก่อนครบกำหนดชำระหนี้ และแจ้งเตือนกรณีผิดนัดชำระหนี้ก่อนดำเนินการบังคับชำระหนี้ มีการรักษาข้อมูลลูกค้าเป็นความลับ รวมทั้งจัดให้มีศูนย์รับเรื่องร้องเรียน เป็นต้น
โดยผู้สนใจประกอบธุรกิจ Personal Loan ระดับประเทศที่เข้าเกณฑ์ดังกล่าวต้องแจ้งความจำนงมายัง ธปท. เพื่อยื่นคำขออนุญาตในการประกอบธุรกิจสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน โดยธปท.จะใช้เวลาไม่เกิน 60 วันในการตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารหลักฐานต่างๆ ให้มีความครบถ้วนชัดเจน ก่อนจะนำเสนอให้กระทรวงการคลังพิจารณาออกใบอนุญาตในการประกอบธุรกิจดังกล่าว ซึ่งในขั้นตอนนี้จะใช้ระยะเวลาไม่เกิน 60 วัน รวมใช้ระยะเวลาทั้งหมดตั้งแต่ขั้นตอนการยื่นคำขออนุญาตจนถึงได้รับใบอนุญาต รวมไม่เกิน 120 วัน
ส่วนผู้ประกอบธุรกิจระดับจังหวัดที่เป็น Pico Finance และสนใจที่จะทำธุรกิจสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกันนั้น ในส่วนนี้จะอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กระทรวงการคลัง โดยต้องมีทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่า 5 ล้านบาท วงเงินในการขอสินเชื่อไม่เกิน 50,000 บาท/ราย เพดานดอกเบี้ยที่คิดรวมค่าติดตามทวงถามหนี้แล้ว จะต้องไม่เกิน 36% ต่อปี โดยการกำกับดูแลก็จะมีลักษณะคล้ายกัน คือ การเปิดเผยอัตราดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียม การจัดทำสัญญา ตารางแสดงภาระหนี้ ใบเสร็จรับเงิน โดยการแจ้งภาระหนี้ต่อลูกค้าจะต้องแจ้งเตือนล่วงหน้าก่อนครบกำหนดชำระหนี้ และแจ้งเตือนกรณีผิดนัดชำระหนี้ก่อนดำเนินการบังคับชำระหนี้ มีการรักษาข้อมูลลูกค้าเป็นความลับ รวมทั้งจัดให้มีศูนย์รับเรื่องร้องเรียน เป็นต้น