นายสุเทพ พันธุ์เพ็ง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด หรือผู้ให้บริการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ เปิดเผยว่า ปี 2561 ที่ผ่านมาบริษัทได้ดำเนินการ ยกระดับประสิทธิภาพการให้บริการ การเดินรถ และการซ่อมบำรุง รวมทั้งการสร้างความพึงพอใจให้แก่ผู้โดยสาร และได้ดำเนินงานซ่อมบำรุงใหญ่ (Overhaul) ทำให้รถไฟฟ้ากลับมาพร้อมให้บริการครบทั้ง 9 ขบวนตั้งแต่วันที่ 9 ม.ค. 2562 ซึ่งเร็วกว่าแผนที่คาดว่าจะเสร็จในก.พ.2562 และบริษัทฯจะเตรียมปรับความถี่ในการเดินรถจาก 10 นาที เป็น 8.30 นาที เพื่อให้สามารถรองรับกับจำนวนผู้โดยสารได้มากขึ้น
โดยในปี 2562 นี้ คาดว่าอัตราการเติบโตของผู้โดยสารรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ จะเพิ่มสูงขึ้นอีก 6% โดยสถิติผู้โดยสารที่มาใช้บริการในช่วงเวลา 05.30 น. – 06.00 น. มีอัตราเพิ่มสูงขึ้น จากในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2561 ที่เริ่มเปิดให้บริการอยู่ที่ 21,360 คน ล่าสุดในเดือนพฤศจิกายนอยู่ที่ 31,471 คน
ทั้งนี้ ได้เตรียมดำเนินการจัดทำระบบบริหารคุณภาพ ISO 14001 : 2015 เพื่อบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมขององค์กร และสร้างสมรรถนะสิ่งแวดล้อมภายในองค์กรให้เกิดความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม รวมทั้งบริหารจัดการกับความรับผิดชอบด้านสิ่งแวดล้อมของงานอย่างเป็นระบบ โดยนำมาใช้ควบคู่ไปกับระบบบริหารคุณภาพ ISO 9001 : 2015
ส่วนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และระบบตั๋วร่วม คาดว่าจะพร้อมใช้งานในเดือนพฤษภาคม 2562 โดย ปี 62 รฟท.จ่ายค่าจ้างให้บริษัทฯในการเดินรถแอร์พอร์เรลลิงก์ประมาณ 320 ล้านบาท และค่าซ่อมบำรุงและจัดซื้ออะไหล่ ประมาณ 400 ล้านบาท ขณะที่มีรายได้จากค่าโดยสารประมาณ 740 ล้านบาท จากพื้นที่เชิงพาณิชย์ 30 ล้านบาท
ด้านการบริหารงานรถไฟฟ้าสายสีแดงในอนาคตนั้น บริษัทได้ตั้งคณะทำงานเพื่อเตรียมความพร้อม และจัดเตรียมแผนงาน ในด้านต่างๆ เพื่อให้การเปลี่ยนผ่านเป็นไปอย่างไร้รอยต่อ และมีประสิทธิภาพ ซึ่ง บริษัทเตรียมแผนดำเนินงานเพื่อสรรหาบุคลากรทั้งด้านงานซ่อมบำรุง งานปฏิบัติการสถานี และส่วนงานสนับสนุนให้มีความเหมาะสมเพียงพอต่อการดำเนินโครงการ
รวมทั้งวางแผนในด้านการฝึกอบรมบุคลากร โดยเฉพาะในส่วนงานซ่อมบำรุงที่จะต้องเรียนรู้ระบบของรถไฟฟ้าที่แตกต่างออกไปจากเดิม เนื่องจากผู้ผลิตเทคโนโลยีของรถไฟฟ้าสายสีแดงจะเป็นเทคโนโลยีของญี่ปุ่น ต่างจากรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ที่เป็นระบบของผู้ผลิตจากเยอรมัน ซึ่งในช่วงเดือนเมษายน – กันยายน 2562 จะส่งพนักงานในส่วนงานซ่อมบำรุงไปฝึกอบรมเทคโนโลยีจากผู้ผลิต (Key Instructor) สำหรับนำความรู้ที่ได้รับมาถ่ายทอดให้บุคลากรอื่นๆต่อไป ซึ่งบริษัทลูกเดินรถสายสีแดง ต้องการพนักงานจำนวน 771 คน ณะที่ปัจจุบัน แอร์พอร์ตลิงก์มีพนักงานที่ 510 คนซึ่งจะเปิดให้ไปอยู่สายสีแดงโดยสมัครใจ
"ด้วยประสบการณ์มากกว่า 8 ปีจากการให้บริการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ บริษัทเชื่อมั่นว่าการปรับแผนการเดินรถให้เหมาะสมกันระหว่าง ศัยกภาพในการขนส่งโดยสาร และปริมาณความต้องการโดยสาร ตามแต่ละช่วงเวลา จะทำให้เกิดประสิทธิภาพในการลดต้นทุนการเดินรถ และสามารถตอบสนองต่อความต้องการใช้บริการของผู้โดยสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ"
รถไฟสายสีแดงจะเปิดให้บริการเดินรถตั้งแต่เวลา 05.30 น. ไปจนถึงเวลา 24.00 น. มีขบวนรถไฟฟ้าให้บริการ 25 ขบวน 130 ตู้ ซึ่งสามารถปรับเพิ่มศักยภาพในการขนส่งโดยสารได้ทันที ตามความต้องการ โดยไม่มีข้อจำกัด หากพบว่ามีปริมาณผู้โดยสารสูงขึ้นเกินกว่าที่คาดหมายไว้ ด้านแผนงานหารายได้ และลดค่าใช้จ่าย ซึ่งสายสีแดงมี 13 สถานี บริษัทฯ จะได้บริหารพื้นที่ 10 สถานี ยกเว้น บางซื่อ ดอนเมือง รังสิตที่ รฟท.จะบริหารเอง
ทั้งนี้ บริษัทได้วางแผนการสื่อสารประชาสัมพันธ์โครงการที่ครบวงจร สำหรับโปรโมท และโฆษณาในทุกๆ ช่องทาง เพื่อเข้าถึงการรับรู้ของผู้โดยสารให้มากที่สุด ทั้งออนไลน์ และออฟไลน์
ในการเพิ่มรายได้จะมาจาก รายได้ค่าโดยสาร (Fare Revenue) และ รายได้ที่ไม่ใช่ค่าโดยสาร (Non Fare Revenue) รวมทั้งการลดค่าใช้จ่าย ซึ่งเป็นช่องทางหนึ่งในการเพิ่มรายได้ บริษัทได้วางแผนการดำเนินการไว้ โดยเพิ่มความคุ้มค่าจากการใช้งานอุปกรณ์เกี่ยวกับการจัดเก็บรายได้ให้เกิดความคุ้มค่า และประโยชน์สูงสุด เพื่อลดค่าใช้จ่ายในส่วนที่เกี่ยวข้อง ด้วยการผลักดันพฤติกรรมการซี้อตั๋วโดยสารจากเครื่องจำหน่ายตั๋วโดยสาร รวมทั้งวางแผนการใช้จำนวนขบวนรถไฟฟ้า (จำนวนตู้) ให้เหมาะสมกับสัดส่วนความต้องการโดยสาร ด้วยการปรับแผนการเดินรถไฟฟ้า ให้เหมาะสมกับความต้องการให้มากที่สุด