นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) การพัฒนาบุคคลากรการบิน ด้านการซ่อมบำรุงและการผลิตชิ้นส่วนอากาศยาน ระหว่างสถาบันการบินพลเรือน (สบพ.) กับ บริษัท Airbus, บริษัท Triumph Aviation Services Asia, บริษัท Triumph Structures (Thailand) และบริษัท Senior Aerospace (Thailand) ว่า นโยบายรัฐบาลในการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ ภาคตะวันออก (EEC) ที่เร่งผลักดันการพัฒนาอุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ บริเวณพื้นที่ภายในสนามบินอู่ตะเภาให้เป็นรูปธรรม เพิ่มขีดความสามารถของการแข่งขันในอุตสาหกรรมการบินของประเทศ ส่งเสริมการขยายตัวของเศรษฐกิจ เพิ่มการจ้างงาน ยกระดับคุณภาพชีวิตและรายได้ของประชาชน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตและบริการโดยใช้เทคโนโลยีนวัตกรรมในประเทศไทยไปสู่ระดับโลก
โดยแอร์บัสเป็นผู้นำของกลุ่ม ที่เป็นบริษัทผลิตชิ้นส่วนอากาศยาน ร่วมMOUกับ สบพ.4 ฉบับ เพื่อพัฒนาศูนย์ฝึกอบรมด้านช่างซ่อมอากาศยาน ในการผลิตบุคลากรการบิน ตามนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่สนามบินอู่ตะเภา และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันอุตสาหกรรมการบินของไทย
ที่ผ่านมา สบพ.และแอร์บัสได้ทำงานร่วมกัน และได้มีการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานโครงสร้างองค์กรและหลักสูตรของสบพ.แล้ว โดยความร่วมมือนี้จะเป็นการพัฒนาหลักสูตรเพิ่มเติมและเทคโนโลยีใหม่ในด้านการซ่อมบำรุงอากาศยานให้เป็นไปตามมาตรฐานขององค์การความปลอดภัยด้านการบินแห่งสหภาพยุโรป (EASA Part 147) โดยมีเป้าหมายปี 2564 จะผลิตบุคลากรช่างซ่อมให้ได้ 350 คนต่อปี
ขณะที่ คาดการณ์ว่า ในปี 80 อุตสาหกรรมการบินในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจะเติบโต 5.5% มีความต้องการ เครื่องบิน,นักบิน และช่างซ่อม สาขาละ 1 แสนคน สูงกว่าการเติบโตของโลกที่จะเติบโตที่ 4.7%
พลเรือตรีปิยะ อาจมุงคุณ ผู้ว่าฯสบพ.กล่าวว่า สบพ.และแอร์บัส ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการทำงานร่วมกันกับโครงการต่าง ๆ รวม 4 ฉบับ ได้แก่
1. การลงนาม MOU ระหว่าง สบพ. และบริษัท Airbus ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตอากาศยานชั้นนำของโลก เรื่องการสนับสนุนการพัฒนาบุคลากรทางด้านการซ่อมบำรุงอากาศยานให้เป็นไปตามมาตรฐานขององค์การความปลอดภัยด้านการบินแห่งสหภาพยุโรป (EASA Part 147) รวมถึงหลักสูตรนักบินพาณิชย์ตรี
2. การลงนาม MOU ระหว่าง สบพ. และบริษัท Senior Aerospace (Thailand) ซึ่งบริษัทมีพันธกิจหลักในการเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนอากาศยานที่มีคุณภาพสูง เรื่องการพัฒนาหลักสูตรและการฝึกอบรมด้านการออกแบบ การผลิตชิ้นส่วนเครื่องบิน การซ่อมบำรุงอากาศยาน และประสานความร่วมมือในการสนับสนุนและส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับการผลิตและการซ่อมบำรุงอากาศยาน
3. การลงนาม MOU ระหว่าง สบพ. และบริษัท Triumph Aviation Services Asia ซึ่งบริษัทมีพันธกิจหลักด้านการออกแบบ ผลิตและซ่อมบำรุงชิ้นส่วนอากาศยาน เรื่องร่วมกันพัฒนาหลักสูตรและการฝึกอบรม โดยเฉพาะด้านการออกแบบ การผลิตชิ้นส่วน การซ่อมบำรุงอากาศยาน ร่วมมือในการสนับสนุนและส่งเสริมการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีนวัตกรรมที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการให้ทุนการศึกษาแก่บุคลากรและนักศึกษาของ สบพ. เพื่อนำเอาความรู้เทคโนโลยีใหม่ ๆ จากต่างประเทศมาพัฒนาอุตสาหกรรมด้านการบินของประเทศ
4. การลงนาม MOU ระหว่าง สบพ. และบริษัท Triumph Structures (Thailand) ซึ่งเป็นบริษัทผลิตและซ่อมแซมชิ้นส่วนโครงสร้างอากาศยาน เรื่องการพัฒนาหลักสูตรและการฝึกอบรมด้านการออกแบบ การผลิตชิ้นส่วน และการซ่อมบำรุงอากาศยาน การสนับสนุนและส่งเสริมการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีนวัตกรรมที่เกี่ยวข้อง การจัดสัมมนาและการฝึกอบรมร่วมกัน หรือการแลกเปลี่ยนบุคลากรระหว่างกัน รวมถึงการให้ทุนการศึกษาแก่บุคลากรและนักศึกษาของ สบพ.
ทั้งนี้ คาดว่าจะสามารถเพิ่มกำลังการผลิตจาก 120 คน/ปี เป็น 350 คน/ปีในปี 64 ซึ่งเพียงพอต่อความต้องการภายในประเทศ และสูงสุดที่ 800 คนต่อปี ซึ่งช่างซ่อมบำรุงอากาศยาน ยังไม่ขาดแคลนแต่ต้องพัฒนาเพื่อรองรับ โครงการ MRO ที่อู่ตะเภา ซึ่งแอร์บัส มีเป้าหมาย 3 เรื่อง คือ ให้ไทยผลิตบุคลากรด้านการบิน รองรับในภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก พัฒนาหลักสูตรฝึกบินที่หัวหินให้เป็นมาตรฐาน EASA และ ต้องการร่วมทุนในการฝึกหลักสูตร Advance ในรูปแบบ PPP ที่จะเป็นการสร้างรายได้ให้สบพ.ต่อไป