นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า กรมสรรพากรได้ปรับเพิ่มเป้าหมายการจัดเก็บภาษีในปีงบประมาณ 2563 เป็น 2.1 ล้านล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2562 ที่มีเป้าหมายการจัดเก็บภาษีอยู่ที่ 2 ล้านล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 6% โดยคาดว่าการจัดเก็บภาษีของปีงบประมาณ 2562 และ 2563 จะเป็นได้ตามเป้าหมาย เนื่องจากกรมสรรพากรได้นำระบบดิจิทัลเข้ามาช่วยให้การจัดเก็บภาษีมีประสิทธิภาพมากขึ้น
สำหรับการจัดเก็บภาษีในปีงบประมาณ 2562 ช่วงไตรมาสแรก (ต.ค.-ธ.ค.61) กรมสรรพากร สามารถจัดเก็บภาษีได้เกินกว่าเป้าหมาย 2.7 หมื่นล้านบาท หรือ 7% และสูงกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน 4 หมื่นล้านบาท หรือ 11% โดยการเก็บภาษีสูงกว่าเป้าหมายทุกตัว เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีเงินได้นิติบุคคล เป็นต้น
"การเก็บภาษีกรมสรรพากรมีความสำคัญ เพราะคิดเป็น 80% ของรายได้ที่เก็บให้ประเทศทั้งหมด การเก็บภาษีที่เกินเป้าไตรมาสแรกปีงบประมาณ 2562 เนื่องจากมีการใช้เทคโนโลยีเข้ามาอำนวยความสะดวกให้กับผู้เสียภาษีมากขึ้น ทำให้มั่นใจว่าการเก็บภาษีทั้งปีงบประมาณ 2562 และ 2563 ที่ต้องการภาษีเพิ่มขึ้น ยังได้ตามเป้าหมาย" นายเอกนิติ กล่าว
ขณะที่การยื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของเงินได้ที่เกิดขึ้นในปี 2561 ที่ต้องยื่นตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. -31 มี.ค.62 หากยื่นทางอินเทอร์เน็ตสามารถยื่นได้ถึงวันที่ 9 เม.ย.62 ขณะนี้ยังมีผู้ยื่นมาน้อยมากเพียง 7 แสนราย มีการขอคืนภาษี 4 แสนราย กรมสรรพากรได้คืนภาษีไปแล้ว 2 แสนกว่าราย หรือประมาณ 55% ของผู้ขอคืนภาษีในขณะนี้ทั้งหมด เนื่องการผู้เสียภาษียื่นแบบทางอินเทอร์เน็ตสามารถคืนภาษีผ่านบัญชีพร้อมเพย์ได้ภายใน 2-3 วัน เท่านั้น ในกรณีที่ไม่ต้องขอเอกสารเพิ่มเติม
ทั้งนี้ กรมสรรพากรคาดว่าจะมีบุคคลธรรมดายื่นแบบเสียภาษี 10-11 ล้านราย มีผู้เสียภาษี 4 ล้านราย โดยตั้งเป้าหมายให้มีการยื่นแบบทางอินเทอร์เน็ต 90% จากปีก่อน 85% เพราะนอกจากได้คืนภาษีได้เร็วแล้ว ในปีนี้ระบบของกรมสรรพากรการยื่นแบบทางอินเทอร์เน็ต ยังให้สามารถอัพโหลดเอกสารผ่านทางออนไลน์ได้เลย โดยที่ผู้เสียภาษีไม่ต้องเสียเวลามายื่นเอกสารให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบ
สำหรับการผลักดันร่างกฎหมาย ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร เพื่อรองรับการจัดเก็บภาษีจากผู้ประกอบการธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (e-Business) ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากการให้บริการในต่างประเทศ ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา คาดว่าจะไม่ทันรัฐบาลชุดปัจจุบัน ทำให้ต้องเสนอให้รัฐบาลใหม่เห็นชอบใหม่อีกครั้ง โดยกฎหมายดังกล่าว จะทำให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้ประกอบการธุรกิจบนแพลตฟอร์มในและนอกประเทศเท่าเทียมกัน
อย่างไรก็ตาม หากกฎหมายออกไม่ทันก็ไม่กระทบกับการเก็บภาษีของกรมสรรพากรในปีงบประมาณ 2562 และ 2563 เพราะยังไม่มีการประเมินการจัดเก็บในส่วนนี้ไว้ในเป้าหมายการจัดเก็บ