ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 2.25-2.50% ในการประชุมนโยบายการเงินวันที่ 29-30 มกราคม 2562 ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น แม้ว่าภาพรวมของการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะยังคงอยู่ในระดับที่แข็งแกร่งในปัจจุบัน ทั้งนี้ คงต้องยอมรับว่าพัฒนาการความเสี่ยงต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกยังคงมีทิศทางปรับเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในช่วงปลายไตรมาส 1/2562 ที่เศรษฐกิจโลกยังคงเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงสำคัญ ไม่ว่าจะเป็น ประเด็นการเจรจาการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ที่กดดันให้เศรษฐกิจจีนชะลอตัวลงค่อนข้างเร็ว ตลอดจนความไม่แน่นอนในการเจรจาร่างข้อตกลงการถอนตัวของอังกฤษจากการเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป (Brexit) ที่ยังมีความเสี่ยงที่ทั้งอังกฤษอาจจะออกจากสหภาพยุโรปโดยไม่มีข้อตกลง (no deal) อาจเป็นความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจในอังกฤษและยูโรโซนอย่างยิ่ง ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวอาจจะส่งผลกระทบทางลบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐได้
ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า เฟดคงจะเพิ่มความระมัดระวังในการปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินในระยะข้างหน้ามากขึ้น แม้ว่าเครื่องชี้เศรษฐกิจของสหรัฐฯ โดยรวม จะยังบ่งชี้ภาพการขยายตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจสหรัฐฯที่ยังคงแข็งแกร่งอยู่ก็ตาม
"แม้ว่าภาพรวมของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะยังคงแข็งแกร่ง แต่ปัจจัยเสี่ยงจากการชะลอลงของเศรษฐกิจโลก อาจส่งผลให้เฟดเพิ่มความระมัดระวังในการปรับเปลี่ยนการดำเนินนโยบายการเงินเพิ่มขึ้น" เอกสารเผยแพร่ระบุ
นอกจากนี้ ทิศทางของราคาน้ำมัน และเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ที่ทรงตัวในระดับต่ำ ประกอบกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ ได้เข้าสู่ระดับกรอบล่างของอัตราเป้าหมายของดอกเบี้ยระยะยาวของเฟดที่ระดับ 2.5-3.5% น่าจะเอื้อให้เฟดสามารถรอประเมินสถานการณ์ต่างๆ ได้ และไม่มีความจำเป็นต้องเร่งรีบที่จะขึ้นดอกเบี้ย
ทั้งนี้ ภาพรวมของตลาดแรงงานสหรัฐฯ ที่ปรับดีขึ้นต่อเนื่อง ยังไม่ได้มีการส่งผ่านแรงกดดันเงินเฟ้ออย่างมีนัยสำคัญ ประกอบกับปัจจัยหนุนต่อการปรับขึ้นของอัตราเงินเฟ้อในปัจจุบันมีจำกัด ท่ามกลางทิศทางของราคาน้ำมันที่คงทรงตัวในระดับต่ำ และการชะลอลงของเศรษฐกิจโลก ขณะที่การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงของสหรัฐฯ ปรับขึ้นมาอยู่ในโซนบวกแล้ว อันน่าจะส่งผลให้ปัจจัยเสี่ยงด้านเสถียรภาพจากการดำเนินนโยบายดอกเบี้ยนโยบายในระดับต่ำคงค่อนข้างจำกัด
"ดังนั้น เฟดน่าจะสามารถที่จะรอประเมินสถานการณ์ของเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า (data dependent) โดยไม่จำเป็นต้องเร่งรีบที่จะขึ้นดอกเบี้ย เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงจากการดำเนินนโยบายการเงินที่ตึงตัวเกินไป จนส่งผลกระทบกับการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า" เอกสารเผยแพร่ระบุ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า สำหรับปัจจัยที่ต้องติดตาม อันอาจจะมีผลต่อมุมมองการดำเนินนโยบายการเงินของเฟดในระยะข้างหน้า ขึ้นอยู่กับพัฒนาการทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ เป็นหลัก ซึ่งหากพัฒนาการของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในระยะข้างหน้ายังคงสามารถรักษาโมเมนตัมการเติบโตในระดับที่ดีสะท้อนจากเครื่องชี้วัดทางเศรษฐกิจที่สำคัญ ได้แก่ การเพิ่มขึ้นของการจ้างงานนอกภาคการเกษตรในระดับสูงกว่า 2 แสนตำแหน่งต่อเดือนในระยะ 2-3 เดือนข้างหน้า หรือพัฒนาการของเงินเฟ้อและเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น ท่ามกลางการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงเติบโตสูงกว่าระดับศักยภาพ โดยพัฒนาการของเศรษฐกิจดังกล่าวหากเกิดขึ้น คงจะสนับสนุนให้เฟดสามารถพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระยะข้างหน้า
สำหรับผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยนั้น การที่เฟดส่งสัญญาณถึงความระมัดระวังในการดำเนินนโยบายการเงิน ตลอดจนท่าทีของเฟดที่ไม่เร่งรีบต่อการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย อาจจะส่งผลให้เงินดอลลาร์ฯ ปรับตัวอ่อนค่าลง อันอาจจะเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้ค่าเงินบาทได้รับแรงกดดันในการปรับตัวแข็งค่า ซึ่งทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คงจะต้องจับตาอย่างใกล้ชิดต่อไป
สำหรับมุมมองนโยบายการเงินของไทย ท่าทีของการดำเนินนโยบายการเงินของเฟดอย่างไม่เร่งรีบ น่าจะช่วยทางการไทยมีเวลาที่จะประเมินพัฒนาการของเศรษฐกิจไทย เพื่อให้การปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยมีความเหมาะสมกับพัฒนาการทางเศรษฐกิจ ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลกในระยะข้างหน้า