(เพิ่มเติม) คลังปรับเงื่อนไขลงทะเบียนมาตรการช็อปตรุษจีนผ่านบัตรเดบิตคาดผู้สนใจกว่าแสนราย

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 23, 2019 14:25 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังได้ปรับเงื่อนไขการลงทะเบียนมาตรการช็อปช่วยชาติเทศกาลตรุษจีนผ่านบัตรเดบิตในช่วงวันที่ 1-15 ก.พ.62 จากเดิมที่กำหนดให้ลงทะเบียนบัตรเดบิตได้เพียง 1 ใบ เป็นไม่เกิน 10 ใบ เพื่อให้เกิดความคล่องตัวมากขึ้น เนื่องจากประชาชนส่วนมากมักถือบัตรเดบิตหลายใบ

ทั้งนี้ กระทรวงการคลัง ได้เปิดให้ประชาชนลงทะเบียนเข้าโครงการดังกล่าว ตั้งแต่วันที่ 7-31 ม.ค.62 โดยล่าสุดมีผู้มาลงทะเบียนประมาณ 7,000 คน ซึ่งหลังจากปรับเงื่อนไขการลงทะเบียนแล้ว คาดว่าจะมีผู้มาลงทะเบียนใช้บัตรกว่า 1 แสนคน จากบัตรเดบิตที่มีในระบบทั้งหมด 50 ล้านใบ 20 ล้านบัญชี ส่วนร้านค้านั้น มาลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการแล้ว 1.5 หมื่นร้านค้า โดยทางสมาคมธนาคารไทย และธนาคารพาณิชย์ 17 แห่งที่รวมในโครงการนี้จะช่วยประชาสัมพันธ์เพื่อไม่ไม่ให้ลูกค้าเสียสิทธิการได้ภาษีคืน

"วัตถุประสงค์หลักของโครงการ คือ การส่งเสริมให้เกิดสังคมไร้เงินสด ซึ่งเป็นไปตามโครงการ National e-Payment ของรัฐบาล ไม่ใช่เพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจแต่อย่างใด โดยรัฐบาลได้เตรียมงบประมาณสำหรับการคืนภาษีในโครงการดังกล่าว ทั้งสิ้น 6-7 พันล้านบาท" นายลวรณ กล่าว

สำหรับภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ที่จะได้คืนจากการซื้อสินค้ายังเหมือนเดิมคือ 5% หรือไม่เกิน 1,000 บาทต่อคน เป็นวงเงินซื้อสินค้าไม่เกิน 2.14 หมื่นบาทต่อคน ซึ่งจะได้รับเงินคืนในเดือน พ.ย.62 ผ่านบัตรพร้อมเพย์ที่ผูกติดไว้กับหมายเลขบัตรประชาชน โดยสินค้าที่ไม่ได้คืนภาษี VAT มี 5 ประเภท ได้แก่ สุรา, ยาสูบ, น้ำมันรถยนต์, รถยนต์ และรถจักรยานยนต์

รายงานข่าวจากกระทรวงการคลัง ระบุว่า เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนที่สนใจเข้าร่วมมาตรการดังกล่าว กระทรวงการคลังได้เปิดให้ผู้ลงทะเบียนสามารถเลือกธนาคารได้มากกว่า 1 แห่ง และในแต่ละธนาคารยังสามารถใช้จ่ายจากบัญชีธนาคารมากกว่า 1 เลขที่บัญชีได้ด้วย โดยสามารถเลือกใช้จ่ายผ่านบัตรเดบิตหรือ QR Code ได้เช่นเดิม

ทั้งนี้ ผู้ลงทะเบียน 1 คน สามารถลงทะเบียนได้สูงสุดไม่เกิน 10 เลขที่บัญชี และสำหรับผู้ที่ได้ลงทะเบียนไปแล้ว หากต้องการใช้เลขที่บัญชีธนาคารหลายเลขที่บัญชีธนาคารในการชำระเงินเพื่อช้อปซื้อสินค้าและบริการตามมาตรการฯ สามารถลงทะเบียนแก้ไขเพื่อกำหนดเลขที่บัญชีธนาคารที่จะใช้ชำระเงินใหม่ได้ โดยใช้เลขประจำตัวประชาชนและอีเมลที่ได้ลงทะเบียนไว้ก่อนหน้า

กระทรวงการคลังขอเชิญชวนให้ประชาชนที่สนใจมาลงทะเบียนได้ตั้งแต่วันที่ 7-31 ม.ค.62 ผ่านเว็บไซต์ www.epayment.go.th ซึ่งมีสาระสำคัญของมาตรการฯ ดังนี้ การจ่ายเงินชดเชยให้แก่ประชาชนที่ลงทะเบียน และได้ชำระเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ การชำระเงินผ่านบัตรเดบิต และ QR Code เพื่อซื้อสินค้าและบริการที่มีภาษีมูลค่าเพิ่ม ไม่รวมถึงสินค้าภาษีสรรพสามิต 5 ประเภท ได้แก่ 1.สุรา 2.ยาสูบ 3. น้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมัน 4.รถยนต์ และ 5.รถจักรยานยนต์) สำหรับการซื้อสินค้าและรับบริการตั้งแต่วันที่ 1-15 ก.พ.62 กับผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ใช้ระบบบันทึกการเก็บเงิน (Point of Sale: POS) ที่สามารถแยกจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มออกจากราคาสินค้าและบริการได้ โดยแยกจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% ออกจากราคาสินค้าและบริการที่ได้ชำระ และจ่ายเงินชดเชยเป็นจำนวนเท่ากับ 5% และรัฐบาลจะจ่ายเงินชดเชยสูงสุดไม่เกิน 1,000 บาทต่อคน หรือเท่ากับการซื้อสินค้าและบริการประมาณ 21,400 บาท โดยจ่ายเงินชดเชยผ่านระบบพร้อมเพย์ที่ใช้เลขประจำตัวประชาชนภายในเดือน พ.ย.62

ปัจจุบัน ธนาคารที่เข้าร่วมมาตรการฯ แล้ว 17 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ, ธนาคารกสิกรไทย, ธนาคารกรุงไทย, ธนาคารไทยพาณิชย์, ธนาคารกรุงศรีอยุธยา, ธนาคารทหารไทย, ธนาคารธนชาต, ธนาคารเกียรตินาคิน, ธนาคารทิสโก้, ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย, ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์, ธนาคารยูโอบี, ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์, ธนาคารไอซีบีซี, ธนาคารออมสิน, ธนาคารซิตี้แบงค์ และธนาคารแห่งประเทศจีน (ไทย) และมีผู้ประกอบการร้านค้าสมัครเข้าร่วมมาตรการฯ แล้ว จำนวน 65 ราย มีจำนวนสาขากว่า 15,000 แห่ง

ทั้งนี้ สามารถดูรายละเอียดการให้บริการการชำระเงินของแต่ละธนาคาร และรายชื่อผู้ประกอบการร้านค้าได้ทางเว็บไซต์ www.epayment.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ