นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงกรณีที่มีข่าวเกี่ยวกับการลักลอบนำพันธุ์ข้าวหอม Jasmine 85 หรือข้าวหอมพวงของเวียดนาม เข้ามาปลูกในประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันให้ผลผลิตอยู่ในพื้นที่ อ.ชุมแสง จ.นครสวรรค์ และทำให้หลายฝ่ายเกิดความกังวลว่าอาจจะมีการนำมาปลอมปนในข้าวหอมมะลิไทยส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศ ว่า กรมฯ ขอยืนยันว่าข่าวลือดังกล่าวไม่เป็นความจริง เพราะในการส่งออกข้าวหอมมะลิไทยไปจำหน่ายในต่างประเทศ มีระบบการตรวจสอบที่เข้มงวดเป็นอย่างมาก หากข้าวหอมมะลิไทยไม่เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด ก็ไม่สามารถส่งออกได้
ทั้งนี้ ในการกำกับดูแลการส่งออกข้าวหอมมะลิไทย ซึ่งเป็นสินค้ามาตรฐาน มีขั้นตอนการตรวจสอบคุณภาพ ดังนี้ (1) เมื่อผู้ส่งออกประสงค์จะส่งออกข้าวหอมมะลิไทย จะต้องยื่นคำร้องต่อกรมฯ ขอให้ออกใบรับรองมาตรฐานสินค้าข้าวหอมมะลิไทย และต้องแจ้งให้บริษัทผู้ประกอบธุรกิจตรวจสอบมาตรฐานสินค้า (บริษัทเซอร์เวย์) เพื่อดำเนินการตรวจสอบคุณภาพมาตรฐานสินค้า (2) การตรวจสอบคุณภาพมาตรฐานสินค้าข้าวหอมมะลิไทยดังกล่าว จะมีพนักงานตรวจสอบมาตรฐานสินค้า (เจ้าหน้าที่ มส. กระทรวงพาณิชย์) ไปปฏิบัติราชการ เพื่อกำกับการทำงานของผู้ตรวจสอบมาตรฐานสินค้า (เซอร์เวย์เยอร์) และนำตัวอย่างที่เซอร์เวย์เยอร์เป็นผู้จัดทำขณะปฎิบัติงานไปตรวจวิเคราะห์คุณภาพ และ (3) เมื่อผลการตรวจวิเคราะห์คุณภาพเป็นไปตามมาตรฐาน จึงออกใบรับรองมาตรฐานสินค้าให้ผู้ส่งออกใช้ประกอบพิธีการศุลกากรเพื่อส่งออกข้าวหอมมะลิไทยต่อไป
ขณะเดียวกัน จะมีการติดตามกำกับดูแลและสุ่มตรวจสอบการส่งออกข้าวหอมมะลิไทย โดยการสุ่มนำตัวอย่างข้าวที่เซอร์เวย์เยอร์นำส่งมายังสำนักงานมาตรฐานสินค้า และสุ่มซื้อข้าวที่วางจำหน่ายในต่างประเทศ เพื่อนำมาตรวจสอบเอกลักษณ์พันธุกรรม (DNA) ข้าวหอมมะลิไทยอย่างต่อเนื่องด้วย
นายอดุลย์ ยืนยันว่า การนำข้าวชนิดอื่นมาปลอมปนกับข้าวหอมมะลิไทยไม่สามารถทำได้ในทางปฏิบัติ เพราะหากมีการปลอมปนจริง ก็สามารถตรวจสอบได้ และไม่มีทางที่จะผ่านการตรวจสอบได้ ที่สำคัญ เมื่อลองตรวจสอบข้าวหอมพวงของเวียดนาม พบว่ามีลักษณะทางกายภาพที่แตกต่างจากข้าวหอมมะลิไทยและข้าวหอมไทย โดยสามารถตรวจสอบได้ชัดเจน เนื่องจากข้าวหอมพวงมีเมล็ดสั้นกว่าข้าวหอมมะลิไทย อีกทั้งเมื่อตรวจสอบด้วยวิธีการตรวจสอบเมล็ดข้าวสุกที่ต้มในน้ำเดือด (การประเมินหาอุณหภูมิแป้งสุก) และวิธีการย้อมสีด้วยสารละลายไอโอดีน (ตรวจหาข้าวนุ่ม) จึงไม่สามารถนำมาปลอมปนกับข้าวหอมมะลิไทย หรือแม้แต่ข้าวหอมไทยได้
"ขอให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง มีความเชื่อมั่นในการกำกับดูแลการตรวจสอบคุณภาพมาตรฐานข้าวไทย ซึ่งมีการกำหนดกระบวนการขั้นตอนการตรวจสอบคุณภาพไว้เป็นอย่างดี และแน่นอนว่า การปลอมปนข้าวหอมพวงของเวียดนามไปกับการส่งออกข้าวหอมมะลิไทยทำได้ยาก เนื่องจากสามารถตรวจสอบได้ทันที และเพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นในมาตรฐานการส่งออกข้าวหอมมะลิไทย กรมฯ จะได้ตรวจสอบและกำกับดูแลการส่งออกข้าวหอมมะลิไทยอย่างใกล้ชิด เพื่อรักษามาตรฐานและราคาให้สมกับเป็นข้าวพรีเมี่ยมชั้นเลิศของไทยในตลาดโลกต่อไป" นายอดุลย์กล่าว
สำหรับมาตรฐานข้าวไทยในปัจจุบัน แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ (1) ข้าวหอมมะลิไทย เป็นสินค้ามาตรฐานโดยมีการกำกับดูแลและควบคุมคุณภาพมาตรฐาน ตามพระราชบัญญัติมาตรฐานสินค้าขาออก พ.ศ.2503 กำหนดให้ต้องมีข้าวหอมมะลิไทย ซึ่งเป็นพันธุ์ข้าวขาวดอกมะลิ 105 หรือ กข15 ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้การรับรับรอง ต้องมี Purity ไม่น้อยกว่า 92% โดยปริมาณ เพียงชั้นเดียว ใช้ชื่อภาษาไทยว่า "ข้าวหอมมะลิไทย" ใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า "THAI HOM MALI RICE" และสามารถขออนุญาตใช้เครื่องหมายรับรองข้าวหอมมะลิไทย (ตรารวงข้าว) ที่กรมการค้าต่างประเทศได้ประชาสัมพันธ์และจดทะเบียนเป็นเครื่องหมายการค้าไว้ 48 ประเทศทั่วโลก เพื่อเป็นการรับรองว่าผู้บริโภคจะได้บริโภคข้าวหอมมะลิไทยที่มีคุณภาพชั้นเยี่ยมและจากประเทศไทยอย่างแท้จริง เนื่องจากมีกระบวนการติดตาม กำกับดูแล และตรวจย้อนกลับ
(2) กำหนดมาตรฐานข้าวหอมไทย เป็นมาตรฐานสมัครใจ เพื่ออำนวยความสะดวกทางการส่งออก และเป็นมาตรฐานข้าวหอมเกรดรองจากมาตรฐานข้าวหอมมะลิไทย (Fighting Brand) สำหรับตอบสนองความต้องการของตลาดและรสนิยมของผู้บริโภคที่มีความหลากหลายในราคาที่เหมาะสม โดยมีข้าวหอมไทยไม่น้อยกว่า 80% โดยปริมาณ มีอมิโลสไม่เกิน 20% ใช้ชื่อภาษาไทยว่า "ข้าวหอมไทย" และใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า "THAI JASMINE RICE หรือ THAI FRAGRANT RICE หรือ THAI AROMATIC RICE หรือชื่ออื่นที่มีความหมายเดียวกัน"
(3) มาตรฐานสินค้าข้าว (ข้าวขาว ข้าวกล้อง ข้าวเหนียวขาว และข้าวนึ่ง) เป็นมาตรฐานสมัครใจ ปรับให้สอดคล้องกับสถานการณ์การผลิต การค้า และการส่งออกข้าวในปัจจุบัน