นายฉัตรชัย มาวงศ์ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังน้ำและพลังงานหมุนเวียน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า กฟผ.เตรียมเปิดประมูลงานรับเหมาก่อสร้าง (EPC) เพื่อติดตั้งแผงผลิตไฟฟ้าเซลล์แสงอาทิตย์บนทุ่นลอยน้ำ (โซลาร์ลอยน้ำ) ในเขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี มีกำลังผลิต 45 เมกะวัตต์ (MW) ในช่วง 1-2 เดือนข้างหน้า หรือไม่เกินเดือนเม.ย.62 หลังล่าสุดที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) อนุมัติแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2561-2580 (PDP2018) แล้ว ซึ่งตามแผนจะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำ 2,725 เมกะวัตต์
สำหรับรูปแบบดำเนินโครงการนั้น กฟผ.เสนอเป็นการผลิตไฟฟ้าผสมผสานกันระหว่างพลังน้ำจากเขื่อนและพลังงานแสงอาทิตย์จากโซลาร์เซลล์ลอยน้ำบนเขื่อน (Hydro-Floating Solar Hybrid) โดยจะนำร่องในโครงการโซลาร์ลอยน้ำ เขื่อนสิรินธร นับเป็นโครงการไฮบริดแห่งแรกที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในอาเซียนและโลก ซึ่งโครงการมีกำหนดจ่ายไฟฟ้าในช่วงปี 2563
ทั้งนี้ การดำเนินโครงการในรูปแบบ Hydro-Floating Solar Hybrid จะทำให้ต้นทุนค่าไฟต่ำและจ่ายไฟได้นานขึ้น จากเดิมประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าจากน้ำในเขื่อนมีเพียง 40% หรือคิดเป็นจ่ายไฟได้นาน 6 ชั่วโมง/วัน เมื่อมีการใช้ระบบดังกล่าว การจ่ายไฟจะนานขึ้นเป็น 12 ชั่วโมง/วัน เพราะไฟฟ้าจากโซลาร์ลอยน้ำเหนือเขื่อนจะจ่ายไฟในช่วงกลางวัน และกักเก็บน้ำไปผลิตไฟฟ้าในช่วงไม่มีแสงแดดในช่วงเวลากลางคืน นับเป็นการใช้โครงสร้างของระบบไฟฟ้าเดิมที่ กฟผ. มีอยู่ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดทั้งระบบเชื่อมต่อไฟฟ้า
สำหรับการลงทุนโครงการโซลาร์ลอยน้ำแห่งใหม่นั้น อาจจะมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบโดยนำระบบกักเก็บพลังงาน (ESS) เข้ามาเสริมเพื่อเพิ่มความมั่นคงระบบไฟฟ้าและทำจ่ายไฟได้ยาวนานขึ้นด้วย รวมถึงอาจเปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามาร่วมลง เนื่องจากโครงการดังกล่าวต้องใช้เงินลงทุนค่อนข้างสูงประมาณ 35 ล้านบาท/เมกะวัตต์ โดยตามแผน PDP ใหม่กฟผ.มีแผนพัฒนาโซลาร์ลอยน้ำราว 1,000 เมกะวัตต์ ใน 8 เขื่อน เป็นเวลา 20 ปี
ส่วนความร่วมมือกับบริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัดในกลุ่มบมจ.ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) หรือเอสซีจี เพื่อพัฒนาระบบทุ่นลอยน้ำและระบบยึดโยงโดยวิศวกรไทย เพื่อใช้เป็นต้นแบบของการผสมผสานการผลิตไฟฟ้าระหว่างเซลล์แสงอาทิตย์ร่วมกับไฟฟ้าจากเขื่อน มีกำลังผลิต 500 กิโลวัตต์ (kW) ติดตั้งในพื้นที่เขื่อนท่าทุ่งนา จ. กาญจนบุรีนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการพัฒนา คาดว่าจะแล้วเสร็จในไตรมาส 1/63 โดยกฟผ.จะนำผลความร่วมมือดังกล่าวและข้อมูลจากบริษัทอื่น ๆ ในต่างประเทศ มาประกอบการพิจารณาเพื่อปรับใช้ในโครงการโซลาร์ลอยน้ำบนเขื่อนขนาดใหญ่ต่อไป