นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวเปิดเผยว่า ในการประชุมของคณะกรรมการฯ เมื่อวันพุธที่ 23 มกราคม 2562 คณะกรรมการฯ ได้อนุญาตให้คนต่างด้าว 17 ราย ประกอบธุรกิจในประเทศไทย โดยส่วนใหญ่เป็นคนต่างด้าวจากประเทศสิงคโปร์ ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ซึ่งมีการนำเงินเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจกว่า 190 ล้านบาท และส่งเสริมให้เกิดการจ้างงานคนไทย 271 คน รวมถึงมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีอันเป็นองค์ความรู้เฉพาะด้านโดยตรงจากประเทศผู้เข้ามาลงทุน
ในเดือนมกราคม 2562 จำนวนธุรกิจที่ได้รับอนุญาตลดลงจากเดือนก่อน 3 ราย คิดเป็น 15% ในขณะที่เงินลงทุนลดลง 582 ล้านบาท คิดเป็น 75% เนื่องจากเดือนธันวาคม 2561 มีผู้ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจ ซึ่งต้องใช้เงินลงทุนสูง คือ บริการให้กู้ยืมเงิน บริการจัดหาเครื่องจักร อุปกรณ์ และวัสดุสำหรับใช้ในโครงการก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรมผลิตสารเคมีแบบครบวงจร เป็นต้น
สำหรับธุรกิจที่คนต่างด้าวได้รับอนุญาต ได้แก่ 1.ธุรกิจบริการให้แก่บริษัทในเครือ/ในกลุ่ม จำนวน 6 ราย มีเงินลงทุนจำนวน 71 ล้านบาท คือ บริการทางบัญชี บริการรับค้ำประกันหนี้ บริการหาแหล่งจัดซื้อและตรวจสอบคุณภาพสินค้า บริการแบ่งและบรรจุน้ำตาลทรายลงบรรจุภัณฑ์ บริการให้เช่าพื้นที่อาคารสำนักงานและอาคารจัดเก็บสินค้าบางส่วน โดยส่วนใหญ่เป็นคนต่างด้าวจากประเทศญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และเนเธอร์แลนด์
2.ธุรกิจบริการให้แก่ลูกค้า จำนวน 6 ราย มีเงินลงทุนจำนวน 51 ล้านบาท ได้แก่ บริการรับจ้างผลิตน้ำมันหล่อลื่นและจาระบี การทำกิจการโฆษณาโดยการให้ใช้พื้นที่บนเว็บไซต์ บริการตรวจสอบและออกใบรับรองมาตรฐานสินค้า มาตรฐานการผลิต และมาตรฐานการบริการ บริการส่งเสริมการขาย บริการให้ใช้ระบบบริหารจัดการการจัดส่งและประกอบเฟอร์นิเจอร์และเครื่องตกแต่ง บริการให้เช่าพื้นที่อาคารโรงงานบางส่วน โดยส่วนใหญ่เป็นคนต่างด้าวจากประเทศสิงคโปร์ สหราชอาณาจักร และเกาหลีใต้
3.ธุรกิจค้าปลีก จำนวน 3 ราย มีเงินลงทุนจำนวน 20 ล้านบาท ได้แก่ การค้าปลีกอุปกรณ์สอบเทียบ และเครื่องมือที่ใช้สำหรับตัดแบบพิเศษสำหรับกระบวนการผลิตเครื่องยนต์ โดยเป็นคนต่างด้าวจากประเทศเยอรมนี และเกาหลีใต้
4.ธุรกิจบริการเป็นคู่สัญญาช่วงกับรัฐ จำนวน 2 ราย มีเงินลงทุนจำนวน 48 ล้านบาท ได้แก่ บริการให้ความช่วยเหลือทางเทคนิคเกี่ยวกับการก่อสร้าง ติดตั้งระบบแปรสภาพก๊าซธรรมชาติจากของเหลวเป็นก๊าซ และบริการให้ความช่วยเหลือทางเทคนิคเกี่ยวกับการก่อสร้าง ติดตั้งระบบถังบรรจุก๊าซแอลเอ็นจี โดยเป็นคนต่างด้าวจากประเทศมาเลเซียและสิงคโปร์
นายวุฒิไกร กล่าวว่า การอนุญาตให้ประกอบธุรกิจในครั้งนี้จะมีผลให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีอันเป็นวิทยาการซึ่งเป็นองค์ความรู้ในแขนงที่คนไทยยังไม่มีความชำนาญหรือมีความเชี่ยวชาญในระดับที่ไม่สูงมากนัก เช่น องค์ความรู้เกี่ยวกับเทคนิคของอุปกรณ์สอบเทียบเครื่องมือที่ใช้สำหรับตัดแบบพิเศษสำหรับกระบวนการผลิตเครื่องยนต์ องค์ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีระบบแปรสภาพก๊าซธรรมชาติเหลว องค์ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีระบบท่อส่งก๊าซแอลเอ็นจี องค์ความรู้เกี่ยวกับอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับระบบป้องกันและลดแรงสั่นสะเทือน องค์ความรู้เทคนิคการใช้งานเครื่องจักร และอุปกรณ์สำหรับใช้จัดการวัตถุดิบในกระบวนการผลิตโดยใช้ระบบการควบคุมอัตโนมัติ เป็นต้น