ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 1.75% ในการประชุมวันที่ 6 ก.พ.62 หลังจากที่ได้มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ในการประชุมนโยบายการเงินเมื่อวันที่ 19 ธ.ค.61 เนื่องจากการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยเริ่มมีสัญญาณชะลอลง แม้ในภาพรวมของการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยจะสอดคล้องกับการเติบโตตามศักยภาพ แต่คงต้องยอมรับว่าโมเมนตัมการการขยายตัวที่เริ่มแผ่วลงลงในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2561 คงเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้ กนง.คงจะติดตามพัฒนาการของเศรษฐกิจไทยอย่างใกล้ชิดอีกระยะ เพื่อรอดูทิศทางของเศรษฐกิจไทยที่คงจะมีความชัดเจนขึ้นในระยะข้างหน้า ก่อนที่จะตัดสินใจปรับเปลี่ยนท่าทีในการดำเนินนโยบายการเงินครั้งต่อไป
ทั้งนี้ต้องยอมรับว่าปัจจัยความไม่แน่นอนที่เข้ามากระทบกับการเติบโตของเศรษฐกิจไทยนั้นมาจากปัจจัยภายนอก อันเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ควบคุมได้ยากทั้งการส่งออกที่ชะลอตัวซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับประเทศส่งออกหลักของโลก รวมทั้งปัจจัยชั่วคราวจากการปรับลดลงของจำนวนนักท่องเที่ยวจีน อย่างไรก็ดีหากพิจารณาปัจจัยในประเทศยังพบว่า การใช้จ่ายครัวเรือนยังโตได้ในระดับสูง ส่วนหนึ่งมาพร้อมกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐ ประกอบกับการลงทุนภาคเอกชนที่ยังโตต่อเนื่อง ในขณะที่การใช้จ่ายของภาครัฐยังต้องติดตามอย่างใกล้ชิด
ขณะที่สภาวะตลาดการเงินยังคงอยู่ในระดับที่ผ่อนคลายต่อเนื่อง แม้ว่าคณะกรรมการนโยบายการเงินของไทยจะมีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเมื่อวันที่ 19 ธ.ค.61 ท่ามกลางสภาพคล่องในตลาดการเงินไทยที่ยังคงอยู่ในระดับสูง ส่งผลให้สถาบันการเงินไทยยังไม่ได้มีแรงกดดันในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย โดยเฉพาะอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ไม่น่าจะมีการปรับขึ้นในระยะอันใกล้ ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทย โดยเฉพาะอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะกลางและยาวปรับลดลงเล็กน้อย อันเป็นผลจากที่เฟดส่งสัญญาณถึงความอดทนต่อการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายมากขึ้น ดังนั้นสภาวะการดำเนินนโยบายการเงินของไทยยังคงเป็นไปอย่างผ่อนปรนและยังช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยอยู่
ทั้งนี้ กนง.คงจะให้น้ำหนักการพิจารณาปรับอัตราดอกเบี้ยตามสถานการณ์ของเศรษฐกิจ (data dependent) ขณะที่แรงกดดันเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับจำกัด น่าจะช่วยให้ กนง.ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในระยะอันใกล้ ซึ่งต้องยอมรับว่ามุมมองการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2562 ยังคงเผชิญกับปัจจัยไม่แน่นอนค่อนข้างมาก โดยเฉพาะปัจจัยเสี่ยงภายนอกจากความไม่แน่นอนด้านการค้า และค่าเงินบาทที่กลับมาแข็งค่าอีกครั้ง
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ยังมีเรื่องข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนอาจจะไม่ได้ข้อยุติที่เป็นรูปธรรมก่อนวันที่ 2 มี.ค. 2562 เนื่องจากทั้ง 2 ฝ่ายยังคงมีมุมมองที่แตกต่างกันค่อนข้างมากในการคลายความขัดแย้ง ทำให้สินค้าส่งออกจากจีนไปยังสหรัฐฯ ยังคงมีความเสี่ยงที่จะถูกปรับขึ้นอัตราภาษีนำเข้าเป็น 25% หรือในกรณีที่การเจรจาการค้ามีความก้าวหน้าสหรัฐฯ พอประมาณ สหรัฐฯ อาจจะเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนที่ระดับ 10% จนกว่าทั้ง 2 ฝ่ายจะสามารถบรรลุข้อตกลงการค้า ทำให้มองว่าแรงกดดันต่อการส่งออกไทยน่าจะคงมีอยู่
นอกจากนี้ ค่าเงินบาทที่ยังมีแนวโน้มแข็งค่าจากปัจจัยพื้นฐานเสถียรภาพต่างประเทศของไทยที่แข็งแกร่ง รวมทั้งการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ฯ อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงเพิ่มเติมที่เข้ามากระทบภาคต่างประเทศ โดยเฉพาะการส่งออก ทำให้ กนง. ติดตามและประเมินภาพเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ ปัจจัยความไม่แน่นอนจากภายนอกประเทศจะมีความชัดเจนมากขึ้นในช่วงปลายไตรมาส 2/2562 ซึ่งน่าจะเห็นทิศทางการเติบโตของเศรษฐกิจไทยชัดขึ้น หากเศรษฐกิจไทยยังสามารถรักษาการเติบโตได้ใกล้เคียงกับระดับศักยภาพที่ประมาณ 4% ตามที่ได้ประเมินไว้ กนง. อาจจะพิจารณาโอกาสการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกครั้ง ซึ่งน่าจะเป็นช่วงครึ่งหลังของปี 2562 แต่หากความเสี่ยงต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยยังคงอยู่ในระดับสูง อาจส่งผลให้คณะกรรมการนโยบายการเงินตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.75% ตลอดทั้งปี 2562