สรรพสามิต ยันแม้ปรับโครงสร้างภาษีบุหรี่ไทยยังแข่งขันกับบุหรี่นอกได้ ชี้ปี 61 การยาสูบฯ ยังคงมีกำไร

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday January 31, 2019 15:42 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กรมสรรพสามิต ชี้แจงประเด็นข่าวที่นายปราโมทย์ นาครทรรพ นักรัฐศาสตร์และนักวิชาการอิสระ มีการโพสต์ข้อความผ่านเฟสบุ๊ค "Pramote Nakornthab" อ้างข้อมูลจากนายอาทิตย์ อุไรรัตน์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวหารัฐบาลมีการบริหารงานแบบเอื้อประโยชน์ให้แก่นายทุน และการบริหารงานที่ผิดพลาดในประเด็นที่มีการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตบุหรี่ไทย ทำให้บุหรี่ไทยแพงเทียบเท่าบุหรี่นอก ส่งผลให้ไม่สามารถแข่งขันกับบุหรี่นอกได้ และทำให้โรงงานยาสูบขาดทุนหลายพันล้านบาทนั้น

นายณัฐกร อุเทนสุต ผู้อำนวยการสำนักแผนภาษี ในฐานะรองโฆษกกรมสรรพสามิต ชี้แจงว่า การปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตยาสูบ เป็นผลจากการบังคับใช้พระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 ซึ่งเป็นการเปลี่ยนวิธีการจัดเก็บภาษีที่เหมือนกันทุกชนิดสินค้า ไม่ใช่เพียงแต่สินค้ายาสูบ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความโปร่งใส เป็นธรรม มีประสิทธิภาพ และเรียบง่าย

ทั้งนี้ ภายใต้การเปิดการค้าเสรีในปัจจุบัน หากมีการดูแลอุตสาหกรรมภายในประเทศมากเกินไป จะส่งผลกระทบทางการค้าในวงกว้างได้ ดังนั้น การปรับโครงสร้างภาษียาสูบ จึงได้กำหนดหลักการให้สอดคล้องกับหลักสากล โดยให้มีการจัดเก็บทั้งอัตราตามมูลค่าเพื่อสะท้อนถึงหลักความฟุ่มเฟือยและอัตราตามปริมาณ เพื่อสะท้อนถึงหลักสุขภาพ ตลอดจนกำหนดอัตราภาษีเพื่อลดการเข้าถึงของประชาชนในกรณีสินค้าที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ โดยเฉพาะบุหรี่ในกลุ่มเยาวชนที่อาจเป็นนักสูบหน้าใหม่ที่สอดคล้องกับนโยบายด้านสาธารณสุขของประเทศ ซึ่งหลักการดังกล่าว จะสร้างความเท่าเทียมในการจัดเก็บภาษีที่จัดเก็บเหมือนกัน ทั้งบุหรี่ที่ผลิตในประเทศ และบุหรี่นำเข้าตามข้อตกลงทางการค้าระหว่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่บุหรี่ไทยมีราคาแพงเมื่อเทียบกับบุหรี่ต่างประเทศ ทำให้การยาสูบแห่งประเทศไทย ไม่สามารถแข่งขันได้นั้น ส่วนสำคัญจะเกี่ยวข้องกับกลยุทธ์การแข่งขันในการดำเนินธุรกิจของการยาสูบแห่งประเทศไทย ไม่ว่าจะด้านการตลาด และการวางแผนธุรกิจ ทั้งนี้ หลังจากการปรับโครงสร้างภาษียาสูบ ในปี 2561 ผลประกอบการการยาสูบแห่งประเทศไทยยังคงมีกำไร


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ