นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การดำเนินธุรกิจในปัจจุบันต้องเผชิญกับความท้าทายจากปัจจัยแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และคาดการณ์ได้ยากมากขึ้น ผู้บริโภคมีความต้องการที่หลากหลาย และปรับเปลี่ยนได้ตลอดเวลา ผู้ประกอบธุรกิจจึงจำเป็นต้องสร้างความแตกต่าง รวมถึงพัฒนาสินค้าและกระบวนการให้บริการเพื่อตอบโจทย์ลูกค้าและตลาดให้ตรงจุดมากที่สุด
นวัตกรรม (Innovation) นับเป็นเครื่องมือสำคัญในยุคดิจิทัลที่จะสร้างโอกาสและความได้เปรียบให้กับธุรกิจซึ่งเอสเอ็มอีไทยจะมีผลิตภัณฑ์ที่ดีอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ การบริการทั้งก่อน ระหว่าง และหลังการขายเป็นหัวใจสำคัญที่ผู้ประกอบธุรกิจจะละเลยไม่ได้ เนื่องจากผู้บริโภคไม่ได้เลือกซื้อสินค้าหรือบริการจากคุณภาพของสินค้าเพียงอย่างเดียว การออกแบบหรือภาพลักษณ์ภายนอกของสินค้าและการให้บริการเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ผู้บริโภคตัดสินใจได้ง่ายมากขึ้น ซึ่งไม่เพียงแต่จะเป็นการเพิ่มยอดขายเท่านั้น แต่ยังสามารถสร้างฐานลูกค้าให้เพิ่มมากขึ้น และพร้อมที่จะกลับมาซื้อสินค้าหรือใช้บริการอย่างต่อเนื่อง
ซึ่งแนวคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) เป็นกระบวนคิดเชิงออกแบบที่นำมาใช้ในการแก้ไขปัญหา เพื่อค้นหาทางออก หรือการสร้างสรรค์สินค้าและบริการต่างๆ โดยหัวใจของกระบวนการอยู่ที่การเริ่มต้นเข้าใจในความต้องการของผู้บริโภคหรือลูกค้าอย่างถ่องแท้ ก่อนนำไปปรับปรุงสินค้าและบริการเพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการให้ได้มากที่สุด
อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กล่าวต่อว่า และเพื่อเป็นการเสริมสร้างองค์ความรู้ และส่งเสริมให้ผู้ประกอบธุรกิจสามารถใช้ประโยชน์จากแนวคิดและโมเดลการดำเนินธุรกิจด้วยนวัตกรรม และความคิดสร้างสรรค์มาใช้พัฒนาสินค้าและบริการให้ตอบโจทย์ลูกค้าอย่างตรงจุด รวมทั้งยกระดับผู้ประกอบธุรกิจรุ่นใหม่ให้สามารถเพิ่มศักยภาพทางการตลาดและขยายโอกาสทางธุรกิจได้ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า จึงกำหนดจัดงานสัมมนา "Open Innovation X Design Thinking" ขึ้น เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้กระบวนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้วยนวัตกรรม และแนวคิดเชิงออกแบบให้ตอบโจทย์ลูกค้าในยุคดิจิทัล โดยจะจัดขึ้น 2 ครั้ง ครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 20 - 21 กุมภาพันธ์ 2562 และครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 27 - 28 กุมภาพันธ์ 2562 ณ สถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ (NEA) ถนนรัชดาภิเษก
"ผู้เข้าร่วมงานฯ มีโอกาสได้เข้ารับการคัดเลือกเพื่อร่วมกิจกรรม "DNA.Business CAMP" (อบรมเชิงลึก เวลา 30 ชั่วโมง) จำนวน 40 ธุรกิจ เพื่อเข้ารับคำปรึกษา บ่มเพาะ และพัฒนาต้นแบบผลิตภัณฑ์ที่เข้าถึงความต้องการของลูกค้าอย่างแท้จริงผ่านการให้คำปรึกษารายธุรกิจ โดยผู้เชี่ยวชาญระดับแนวหน้าของเมืองไทย ด้วยกระบวนการ คิดเชิงออกแบบ (Service Design) อาทิ การวิจัยตลาด (Market Research) การออกแบบสินค้าเชิงนวัตกรรม(Innovation Design) การสร้างตลาดเพื่อสินค้าใหม่ และการพัฒนาโมเดลธุรกิจ (Business Model Canvas) ฯลฯ เป็นต้น ซึ่งผู้ผ่านการบ่มเพาะจะได้รับการพัฒนาต้นแบบสินค้าและบริการ ทั้งด้านผลิตภัณฑ์ กระบวนการให้บริการ และโมเดลธุรกิจใหม่ พร้อมโอกาสต่อยอดทางธุรกิจจากหน่วยงานพันธมิตร อาทิ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สถาบันอาหาร (NFI) และสถาบันการเงิน ฯลฯ เป็นต้น" นายวุฒิไกรระบุ