นักวิชาการเตือนรบ.ใหม่อย่าเพิ่มหนี้คนรากหญ้าด้วยการเน้นเข้าถึงแหล่งทุน

ข่าวเศรษฐกิจ Monday January 21, 2008 17:37 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          นายตีรณ พงศ์มฆพัฒน์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แนะรัฐบาลใหม่ไม่ควรเน้นกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากด้วยการเน้นให้ประชาชนเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่าย เพราะจะยิ่งเพิ่มความยากจนให้แก่คนไทยเพิ่มขึ้น เนื่องจากหลายนโยบายของรัฐบาลที่ผ่านมาทำให้ประชาชนฐานรากกู้เงินในลักษณะการบริโภคนิยมส่งผลให้เกิดความฟุ่มเฟือยจนมีหนี้สินตามมาภายหลัง 
ดังนั้น หากต้องการสนับสนุนให้ประชาชนเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้นก็ควรจะเน้นไปที่การใช้เงินทุนสร้างอาชีพและผลตอบแทนจากเงินทุนเหล่านั้น รวมถึงใช้เงินทุนเพื่อการพัฒนาความเจริญในชุมชน และ สร้างงานในชนบท เป็นต้น
"ไม่เห็นด้วยที่รัฐบาลกระตุ้นเศรษฐกิจโดยเน้นภาคบริโภคโดยด่วน เพราะหากส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อซื้อสินค้า ผู้ที่ได้รับประโยชน์คือนักธุรกิจรายใหญ่ ขณะที่ประชาชนได้รับความสะดวกสบายระยะสั้นๆ แต่สุดท้ายก็ต้องรับภาระหนี้ และปัญหาความยากจนก็จะสะสมจนยากต่อการแก้ไขได้" นายตีรณ กล่าว
สาเหตุที่ทำให้ประเทศไทยยังมีคนจนอยู่อีกมาก เนื่องจากระบบการศึกษาของไทยยังเน้นเพียงขยายปริมาณให้ครอบคลุมทั่วประเทศมากกว่าการเน้นคุณภาพ โดยหากไม่สามารถพัฒนาศักยภาพของประชากรก็จะทำให้คนจนมีค่าแรงที่ถูก ขณะเดียวกันปัญหานักการเมืองไทยจำนวนมากยังขาดอุดมการณ์ โดยยึดการเมืองเป็นทั้งอาชีพและเป็นธุรกิจ ซึ่งถือว่าอันตรายต่อระบอบประชาธิปไตยและการบริหารประเทศ
แหล่งข่าวจากคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า ผลการวิจัยที่ผ่านมาพบว่า นโยบายภาครัฐบาลในอดีตที่สร้างความยากจนแก่กลุ่มคนจนมากขึ้น เช่น นโยบายสร้างนิสัยให้คนจนรอรับความช่วยเหลือจากภาครัฐ โดยเฉพาะแนวทางหาเสียงของนักการเมือง, สร้างนโยบายเอื้อประโยชน์ต่อนักลงทุนรายใหญ่ ทั้งด้านแรงงานต่างด้าวที่รัฐมุ่งสนองผลประโยชน์ของนักลงทุนรายใหญ่ที่ต้องการโยกย้ายแรงงานต่างด้าวอย่างเสรี เพื่อลดต้นทุนในการผลิต ทำให้แรงงานเหล่านี้มาแย่งชิงโอกาสของแรงงานคนจนที่เป็นคนไทย
อย่างไรก็ดี แนวทางการแก้ไขปัญหาความยากจนโดยส่งเสริมนโยบายเศรษฐกิจมหภาคให้เอื้อต่อการแก้ไขปัญหาความยากจน เช่น ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อให้เศรษฐกิจฐานรากมีความเข้มแข็งสามารถพึ่งตนเอง, ส่งเสริมการเจริญเติบโตของภาคเศรษฐกิจที่คนจนส่วนใหญ่พึ่งพิงโดยเฉพาะภาคเกษตรกรรม, อุตสาหกรรมการเกษตร, ภาคการก่อสร้าง และภาคบริการ รวมถึงสร้างมาตรการภาษีที่เอื้อต่อวิสาหกิจชุมชน และระบบสินเชื่อรายย่อย เป็นต้น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ