พาณิชย์ ออกแนวทางปฏิบัติการซื้อขายข้าวรัฐต่อรัฐตามข้อกำหนด ป.ป.ช. มั่นใจเพิ่มความโปร่งใส ป้องกันการทุจริต

ข่าวเศรษฐกิจ Friday February 1, 2019 14:54 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ขณะนี้ กรมฯ ได้ออกแนวทางปฏิบัติในการเจรจาและการทำสัญญาซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (G to G) สำหรับข้าราชการประจำใช้เป็นแนวทางในการดำเนินงานในอนาคต ตามที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้กำหนดให้มีการจัดทำมาตรการป้องกันการทุจริต กรณีการค้าระหว่างประเทศแบบรัฐต่อรัฐ จากโครงการรับจำนำข้าวและการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ โดยได้มีการนำเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา และ ครม.ได้ให้ความเห็นชอบแนวทางปฏิบัติตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

สำหรับแนวทางปฏิบัติดังกล่าว ได้กำหนดหลักการสำคัญในการเจรจา และทำสัญญาซื้อขายข้าวแบบ G to G ไว้ 3 ประการ คือ 1. การเจรจาและทำสัญญา คู่สัญญาต้องเป็นหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลกลางของประเทศผู้ซื้อ โดยสามารถตรวจสอบข้อมูลกับกระทรวงการต่างประเทศได้อีกทางหนึ่ง

2. การชำระเงิน ต้องเป็นการชำระเงินระหว่างประเทศ โดยไม่จำเป็นต้องเป็นการเปิด Letter of Credit (L/C) เพียงอย่างเดียว ขึ้นอยู่กับการเจรจา แต่ต้องตรวจสอบที่มาของเงินดังกล่าวได้ โดยมีเอกสารหลักฐานจากธนาคารทั้งของไทย และธนาคารที่ประเทศคู่ค้าใช้ในการทำธุรกรรมทางการเงินดังกล่าว

3. การส่งมอบข้าว ต้องส่งข้าวออกไปจากประเทศไทยจริง โดยมีหลักฐานที่สำคัญ คือ ใบอนุญาตส่งออกข้าวที่ออกโดยกรมการค้าต่างประเทศ ที่ระบุว่าเป็นการส่งออกข้าวรัฐบาล

ส่วนประเด็นที่ให้กรมการค้าต่างประเทศเปิดเผยข้อมูลในสัญญาซื้อขายข้าวแบบ G to G ทั้งฉบับ มีแนวทางให้กรมฯ พิจารณาเปิดเผยข้อมูลในส่วนที่สามารถเปิดเผยได้ตามความเหมาะสม โดยไม่ขัดต่อข้อกำหนดในสัญญา และไม่กระทบต่อตลาดและความสัมพันธ์กับประเทศผู้ซื้อ

"กรมฯ เชื่อมั่นว่าแนวทางปฏิบัติดังกล่าว จะเป็นหลักในการทำงาน และสร้างความมั่นใจในการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการของกรมฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เป็นอย่างดี และจะทำให้การซื้อขายข้าว G to G ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และป้องกันปัญหาการทุจริตที่อาจจะเกิดขึ้น" นายอดุลย์กล่าว

สำหรับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่กรมฯ ได้หารือในการจัดทำแนวทางปฏิบัติ ได้แก่ กรมการค้าภายใน องค์การคลังสินค้า องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร กระทรวงการคลัง กระทรวงการต่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน รวมทั้งสำนักงาน ป.ป.ช.


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ