นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รมว.พลังงาน เปิดเผยว่า ปัจจุบันการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) อยู่ระหว่างร่วมกับเครือซิเมนต์ไทย (เอสซีจี) ในการพัฒนาโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนทุ่นลอยน้ำขนาดใหญ่ (โซลาร์ฟาร์มลอยน้ำ) กำลังผลิต 45 เมกะวัตต์ ส่วนอีก 700 เมกะวัตต์ อยู่ระหว่างศึกษาเพื่อให้เอกชนร่วมดำเนินการได้ ขณะที่ราคารับซื้อไฟฟ้าจะต้องไม่แพง สามารถแข่งขันได้ ดังนั้น ราคารับซื้อไฟฟ้าจากโครงการโซลาร์ฟาร์มลอยน้ำของกฟผ.จะต้องต่ำกว่าราคาขายปลีก
อนึ่ง ตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2561-2580 (PDP2018) จะมีโซลาร์ลอยน้ำและพลังน้ำ รวม 2,725 เมกะวัตต์ ภายใน 20 ปี แบ่งเป็นของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จะดำเนินการร่วมกับผู้ประกอบการในประเทศเป็นหลัก นายศิริ กล่าวอีกว่า สำหรับแนวทางการช่วยลดปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ที่แนวทางหนึ่งจะมีการปรับปรุงโรงกลั่นน้ำมันให้เป็นมาตรฐานยูโร 5 นั้น อาจไม่จำเป็นต้องเร่งให้แล้วเสร็จก่อน 5 ปี เนื่องจากปัจจุบันโรงกลั่นของบมจ.ปตท. (PTT) และบมจ.บางจากคอร์ปอเรชั่น (BCP) จำหน่ายน้ำมันดีเซลเกรดพรีเมียมที่เป็นมาตรฐานยูโร 5 อยู่แล้ว แต่มีราคาแพงกว่าดีเซลปกติราว 3.50 บาท/ลิตร ซึ่งในสัปดาห์นี้กระทรวงพลังงานเตรียมจะเรียกปตท.และบางจาก มาหารือและขอความร่วมมือลดราคาน้ำมันดีเซลเกรดพรีเมียม เพื่อจูงใจให้ผู้ใช้รถเครื่องยนต์ดีเซลหันมาใช้น้ำมันดังกล่าวมากขึ้น เพื่อช่วยลดปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก
ทั้งนี้ แนวทางดังกล่าวจะเป็นมาตรการระยะสั้นในช่วงวิกฤติฝุ่นละออง PM2.5 เท่านั้น โดยการลดราคาน้ำมันดีเซลเกรดพรีเมียมนั้น เบื้องต้นจะเป็นการลดในส่วนของต้นทุนการจำหน่าย ซึ่งอาจจะมาจากการให้ลดเก็บสำรองน้ำมันเฉพาะมาตรฐานยูโร 5 จากปัจจุบันตามกฎหมายให้ผู้ค้าน้ำมันเก็บสำรองน้ำมันดิบและสำเร็จรูปรวม 7% ของการปริมาณการค้า ซึ่งจะหารือกันอีกครั้งว่าจะให้ลดเหลือเท่าใด โดยอาจลดเหลือ 2% ก็ได้ ซึ่งหลังจากขอความร่วมมือกับปตท.และบางจากแล้ว กระทรวงพลังงานก็จะขอความร่วมมือกับค่ายน้ำมันอื่นต่อไป
นอกจากนี้กระทรวงพลังงานไม่จำเป็นต้องเร่งส่งเสริมการจำหน่ายน้ำมัน B10 ที่มีการนำไบโอดีเซล (B100) มาผสมในน้ำมันดีเซล 10% มาทดแทนน้ำมัน B7 ซึ่งเป็นดีเซลปกติทั่วไป เนื่องจากปัจจุบันกระทรวงพลังงานข้ามไปสนับสนุนเป็น B20 แล้ว