TMB Analytics มองว่าในปี 2562 นี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.75% ไปอย่างน้อยอีกครึ่งปี แม้อุปสงค์ในประเทศจะขยายตัวได้ดี เพื่อรอประเมินผลทางเศรษฐกิจจากการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งล่าสุดที่ผ่านมา ประกอบกับแรงกดดันจากเงินเฟ้อก็ยังทรงตัวในระดับต่ำจากปัจจัยด้านอุปทาน และค่าเงินบาทที่มีโอกาสแข็งค่าต่อเนื่อง
หากพิจารณาช่วงวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นในอดีตของ ธปท. อัตราดอกเบี้ยนโยบายมักจะถูกปรับขึ้นติดต่อกันในแต่ละการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จึงอาจเกิดข้อสงสัยว่าหลังจากปรับขึ้นดอกเบี้ยไปเมื่อการประชุมครั้งก่อนหน้าในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ธปท. จะปรับดอกเบี้ยขึ้นต่อในการประชุมครั้งต่อไปในวันที่ 6 กุมภาพันธ์นี้หรือไม่ เมื่ออุปสงค์ในประเทศก็ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องโดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชนที่ในปี 2561 คาดว่าจะขยายตัวถึง 4.4% สูงสุดในรอบ 5 ปี และคาดว่าจะขยายตัวต่อเนื่องในปีนี้
ในประเด็นดังกล่าว TMB Analytics มองว่าถึงแม้อุปสงค์ในประเทศจะเติบโตดีในปีนี้ แต่แรงกดดันจากเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับต่ำจากปัจจัยด้านอุปทานเป็นหลัก โดยเฉพาะราคาน้ำมันที่คาดว่าในครึ่งปีแรกจะทรงตัวที่ระดับเพียง 62.5 ดอลลาร์/บาเรล เทียบกับ เฉลี่ยที่ 75 ดอลลาร์/บาเรลจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้เงินเฟ้อในช่วงครึ่งแรกของปี อาจเฉลี่ยต่ำกว่ากรอบล่างของเป้าหมายเงินเฟ้อ 1% ของ ธปท.
นอกจากนี้ อีกประเด็นที่อาจสร้างแรงกดดันต่อการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของ ธปท. คือเรื่องการแข็งค่าของเงินบาท ที่แข็งค่าจากระดับสูงสุดที่ 33.28 บาท/ดอลลาร์สหรัฐในช่วงปลายปีที่แล้ว ล่าสุดเหลือเพียง 31.24 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ถึงแม้ว่าปัจจัยที่กำหนดแนวโน้มค่าเงินบาทในระยะยาว จะเป็นดุลการค้าและรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ แต่ก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่าดอกเบี้ยนโยบายก็เป็นปัจจัยที่สามารถกระทบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทในระยะสั้นได้เช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในภาวะที่สถานะด้านต่างประเทศของไทยแข็งแกร่ง โดยมีบัญชีเดินสะพัดสุทธิเกินดุล รวมกว่า 3.77 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2561 อีกทั้งเงินทุนสำรองระหว่างประเทศก็อยู่ในระดับสูงถึง 2 แสนล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 10 เดือนของมูลค่าการนำเข้า ดอกเบี้ยนโยบายที่สูงขึ้นอาจดึงดูดเงินทุนจากต่างประเทศเข้าตลาดการเงินไทย กดดันให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นได้
แต่ไม่ว่า ธปท. จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายหรือไม่ ความผันผวนของค่าเงินบาทในปีนี้ก็คาดว่าจะเพิ่มขึ้น ทั้งจากประเด็นสงครามทางการค้าที่จะกระทบดุลการค้า และความสามารถในการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติ และการเคลื่อนย้ายเงินทุนต่างประเทศที่อาจเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว นักลงทุนรวมถึงผู้ประกอบการจึงควรเตรียมรับมือกับความผันผวนดังกล่าว และทำการป้องกันความเสี่ยงค่าเงินด้วยกลยุทธ์ที่เหมาะสม