ธนาคารกลางเกาหลีใต้เตือนว่า เศรษฐกิจเกาหลีใต้อาจชะลอตัวลงหากไม่มีการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศ โดยดูได้จากจีดีพีที่มีการขยายตัวลดลงเหลือ 5.2% ระหว่างปี ค.ศ. 2000-2006 จากเดิมที่ระดับ 8.3% ในช่วงทศวรรษที่ 1970
"ถ้าเศรษฐกิจเกาหลีใต้ยังชะลอตัวต่อไปเรื่อยๆ อาจส่งผลให้ช่องว่างระหว่างประเทศพัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนาไม่สามารถลดลงได้อีกเลย" ธนาคารกลางเกาหลีใต้ระบุในรายงาน
"เมื่อเทียบกับประเทศพัฒนาแล้ว เศรษฐกิจเกาหลีใต้มีอัตราการชะลอตัวที่รวดเร็วเกินไป นอกจากนั้นโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศยังไม่ขาดเสถียรภาพ ดูได้จากตัวเลขการลงทุนและการบริโภคภาคเอกชน ซึ่งมีอัตราการขยายตัวช้ากว่าจีดีพี"
"ตราบใดที่เศรษฐกิจยังขยายตัวด้วยปัจจัยหนุนจากภายนอก รวมถึงการลงทุนด้านการเงินและแรงงานที่มีแต่ปริมาณไม่มีคุณภาพ แทนที่จะขยายตัวจากปัจจัยหนุนภายในและการพัฒนาการผลิตให้ดีขึ้น เกาหลีใต้คงพัฒนาประเทศให้ทันประเทศที่พัฒนาแล้วได้ยาก"
"จุดด้อยอีกประการคือ ผลิตภัณฑ์ในประเทศไม่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่มีความหลากหลายและซับซ้อนมากขึ้น ส่งผลให้ผู้บริโภคหันไปใช้เงินกับตลาดต่างประเทศมากขึ้น และเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจให้ดีกว่าเดิม เกาหลีใต้ควรพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตให้ดีกว่านี้" ธนาคารกลางเกาหลีใต้กล่าว สำนักข่าวซินหัวรายงาน
--อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย ปรียพรรณ มีสุข/รัตนา โทร.0-2253-5050 ต่อ 327 อีเมล์: ratana@infoquest.co.th--