สถาบันบริหารและจัดการแหล่งน้ำระหว่างประเทศ เตือนว่า ผลการศึกษาของสถาบันฯบ่งชี้ว่า การผลิตไบโอดีเซลที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องนั้น จะส่งผลกระทบต่อแหล่งน้ำและทำให้เกิดปัญหาด้านอาหารในภูมิภาคเอเชีย
ทั้งนี้ สถาบันฯเปิดเผยว่า "แผนเชิงรุกของอินเดียและจีนที่จะนำพืชผลทางการเกษตรมาใช้ผลิตไบโอดีเซลมากขึ้นนั้น จะส่งผลกระทบในด้านลบต่อแหล่งน้ำของประเทศเหล่านี้ อีกทั้งยังจะบั่นทอนความสามารถในการจัดหาแหล่งอาหารให้เพียงพอต่อความต้องการของคนและสัตว์"
ทั้งนี้ ทางสถาบันได้คำนวณการใช้ที่ดินและพื้นที่ชลประทานสำหรับการเพาะปลูกพืชผลทางการเกษตร อาทิ ข้าวโพด ข้าวสาลี และอ้อยในหลายประเทศในช่วงปี 2563
ขณะที่สถาบันวิจัยด้านการเกษตรระหว่างประเทศเปิดเผยข้อมูลว่า จีนมีเป้าหมายที่จะเพิ่มปริมาณการผลิตไบโอดีเซลเพิ่มเป็น 4 เท่าภายในปี 2563 ขณะที่อินเดียก็กำลังใช้กลยุทธ์แบบเดียวกัน ทั้งนี้ สถาบันวิจัยฯให้คำแนะนำว่า หากจีนต้องการให้เป้าหมายดังกล่าวบรรลุผล จีนควรจะเพิ่มแหล่งสำรองน้ำอีก 75 ลิตรต่อวันต่อประชากร 1 คน และอินเดียต้องเพิ่มแหล่งสำรองน้ำมันอีก 70 ลิตรต่อวันต่อประชากร 1 คน
นอกจากนี้ สถาบันวิจัยนโยบายอาหารระหว่างประเทศระบุว่า การผลิตไบโอดีเซลเพิ่มขึ้นจะส่งผลให้ราคาข้าวโพดพุ่งขึ้น 1.7 เท่า น้ำตาล 1.3 เท่า และข้าวสาลี 1.2 เท่า ตามลำดับภายในปี 2563
นายฮัวชิม วอน บรุน ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยนโยบายอาหารระหว่างประเทศกล่าวว่า สถานการณ์ด้านอาหารทั่วโลกในขณะนี้ได้รับผลกระทบจากมลภาวะที่เพิ่มสูงขึ้น และจากปัญหาการผลิตพืชผลที่ตกต่ำลง ซึ่งเป็นผลมาจากภาวะโลกร้อน ทั้งนี้ นายบรุนกังวลว่าการเพิ่มการผลิตไบโอดีเซลอาจทำให้สถานการณ์ด้านอาหารทั่วโลกเลวร้ายลงไปอีก สำนักข่าวเกียวโดรายงาน
--อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย รัตนา พงศ์ทวิช/สุนิตา โทร.0-2253-5050 ต่อ 315 อีเมล์: sunita@infoquest.co.th--