นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รมช.คมนาคม เปิดเผยภยหลังประชุมและให้นโยบาย ผู้บริหาร บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท.จำกัด หรือผู้ให้บริการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรลลิงก์ ว่า หลังจากได้เร่งรัดการซ่อมบำรุงขบวนรถของแอร์พอร์ลิงก์ และทำให้มีรถวิ่งให้บริการครบทั้ง 9 ขบวนที่ มาเป็นเวลา 1 เดือนแล้วโดยไม่มีปัญหา ซึ่งทางบริษัทฯได้นำระบบคุณภาพ มาตรฐาน ISO 9000 ล่าสุดมาใช้ดำเนินการระบบซ่อมบำรุง ทำให้มั่นใจได้ว่า ขบวนรถจะมีคุณภาพสามารถให้บริการได้ครบทั้ง 9 ขบวนไม่มีปัญหารถเสียเหมือนที่ผ่านมา
หลังจากขบวนรถที่ไม่มีปัญหาการเดินรถ ทำให้จำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยล่าสุด สถิติผู้โดยสารสูงสุดอยู่ที่ 8.8 หมื่นคน/วัน โดยได้ตั้งเป้าหมายใหม่เพิ่มจำนวนผู้โดยสารเป็น 1 แสนคน/วันโดยมั่นใจว่าเมื่อรักษาอัตราการเดินรถได้ จะสร้างความเชื่อมั่นผู้โดยสาร และทำการตลาดเพื่อส่งเสริมอีกส่วนหนึ่ง
สำหรับ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท.จำกัด ซึ่งจะยกระดับและปรับบทบาทไปเป็นบริษัทลูกของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เพื่อรับบริหารการเดินรถสายสีแดงนั้น คาดว่าจะรายงานการจัดตั้งบริษัทลูก สายสีแดง ต่อคณะรัฐมนตรี(ครม.) ในเร็วๆนี้ ซึ่ง ในช่วงการเปลี่ยนผ่านนี้ จะต้องเตรียมความพร้อมอย่างมาก เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อผู้โดยสาร และเพื่อพร้อมสำหรับระบบสายสีแดงที่ใหญ่และมีระยะทางมากกว่าแอร์พอร์ตลิงก์
ขณะที่รูปแบบการบริหารจะเปลี่ยนไปจากเดิมที่ รฟท.จ่ายค่าจ้างให้บริหารแอร์พอร์ตลิงก์ แบบ Gross Cost ส่วนรถไฟสายสีแดง จะเป็นการบริหารแบบ Net Cost บริษัทฯจะมีความคล่องตัวมากกว่า โดยจะบริหารจัดการเดินรถ บริหารรายได้ และการเงิน การซ่อมบำรุงเองทั้งหมด
นอกจากนี้ จะต้องมีการโอนรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ให้เอกชนผู้บริหารรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ตามเงื่อนไขทีโออาร์ ซึ่งได้ประมาณการณ์ผู้โดยสารของแอร์พอร์ตลิงก์ไว้ที่ 1 แสนคน/วัน ซึ่งจะมีรายได้เกือบ 3 ล้านบาท/วัน อาจทำให้เอกชน 3 สนามบินอยากเข้ามาบริหารเร็วขึ้นเพราะเป็นสิ่งที่สร้างรายได้ให้ทันที
ด้านนายสุเทพ พันธุ์เพ็ง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท.จำกัด กล่าวว่า ล่าสุด บริษัทได้ปรับเวลาการเดินรถช่วงเร่งด่วน เป็น 10 นาที/ขบวน และช่วงนอกเวลาเร่งด่วน ปรับจาก 12 นาที เป็น 10 นาที/ขบวนแล้ว ซึ่งเป็นมาตรการในช่วงที่รณรงค์ให้ประชาชนใช้ระบบรางเดินทาง เพื่อลดปัญหาฝุ่นละออง pm 2.5
และในเดือน เม.ย.นี้ จะเพิ่มความถี่ในการให้บริการช่วงเวลาเร่งด่วนจาก 10 นาที/ขบวน เป็น 8 นาที/ขบวน ซึ่งคาดว่าจะมีผู้โดยสารเพิ่มเป็น1แสนคน/วัน ได้ และเป็นไปตามขีดความสามารถของรถทั้ง9 ขบวนอีกด้วย
สำหรับการจัดตั้งกรมการขนส่งทางราง นายไพรินทร์ กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างรอการประกาศในราชกิจจานุเบกษา จะเป็นมิติใหม่ของระบบคมนาคมไทย ที่จะมีหน่วยงานด้านกำกับดูแล (Regulator) ครบทั้ง 4 โหมด จากที่ก่อนหน้านี้ มี กรมเจ้าท่า กำกับมาตรฐานการขนส่งทางน้ำ , กรมการขนส่งทางบก กำกับมาตรฐานทางบก และสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ที่เพิ่งแยกออกมาล่าสุด หลังประเทศไทยถูกธงแดง จากองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO)
ในส่วนของระบบรางนั้น กรมการขนส่งทางราง จะเป็นหน่วยงานที่กำกับดูแล ทำหน้าที่กำหนดมาตรฐาน ทั้งการก่อสร้าง วัสดุก่อสร้าง ระบบอาณัติสัญญาณ การออกใบอนุญาตต่างๆ ทั้งคนขับรถไฟ รถไฟฟ้า จดทะเบียนรถไฟฟ้า ควบคุมการกำหนดอัตราค่าโดยสาร ระบบขนส่งทางรางตจะมีความสมบูรณ์ มีมาตรฐาน และเป็นช่วงเวลาที่เหมาะ เนื่องจากประเทศไทยกำลังจะมีระบบรถไฟความเร็วสูง ที่ใช้เทคโนโลยีสูง การดำนินงานทุกอย่างต้องเป็นไปตามาตรฐานโลก