นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการแทน ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยหลังการจัดงาน "Change to the Future" ครั้งที่ 1/2562 ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอนาคตใหม่รถไฟไทยว่า รฟท. ตั้งเป้าลดผลขาดทุนก่อน และมีกำไรก่อนหักภาษี ดอกเบี้ย ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) เป็นศูนย์ ภายในปี 2566 จากปี 2562 ที่คาดว่าจะมีผลขาดทุนสุทธิ 2.2 หมื่นล้านบาท และหนี้สินสะสม 1.4 แสนล้านบาท
นายวรวุฒิกล่าวว่า หาก รฟท.ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง รฟท.จะขาดทุนสะสมจนมีหนี้สินสะสมสูงขึ้นแตะ 2 แสนล้านบาทในปี 66
"รถไฟอยู่อย่างเดิมไม่ได้ ถ้าไม่เปลี่ยน ก็จะเกิดความล้าสมัย ไม่สามารถแข่งขันได้ ขาดทุนมากขึ้น ถ้าไม่ปรับวิธีการทำงาน วันข้างหน้าอาจไม่มีคนรถไฟอยู่"นายวรวุฒิกล่าว
พร้อมระบุว่า โอกาสของ รฟท.กำลังจะมาใน 10 ปี (62-72) จากที่มีเส้นทางรถไฟเพิ่มขึ้นเป็น 4,044 กิโลเมตร (กม.) ในปี 2561 จากปี 2494 ที่มีทางรถไฟ 3,377 กม. โดยคาดว่าในปี 2566 มีทางรถไฟ 4,370 กม. และในปี 2572 มีทางรถไฟ 5,367 กม. โดยในปี 2566 จะมีรถไฟทางคู่เฟสแรก 7 เส้นทาง ระยะทางรวม 993 กม. และยังมีรถไฟทางคู่ เฟส 2 จำนวน 7 เส้นทาง ระยะทาง 1,483 กม. และทางรถไฟสายใหม่ 2 เส้นทาง ระยะทาง 681 กม.
นอกจากนี้ รฟท. มีที่ดินจำนวนมาก โดยทำเลหลัก ได้แก่ ย่านสถานีกลางบางซื่อ พื้นที่การพัฒนา 1,100 ไร่ ย่านสถานีมักกะสัน พื้นที่การพัฒนา 497 ไร่ สถานีย่านแม่น้ำ พื้นที่การพัฒนา 277 ไร่
ทั้งนี้ รฟท.จะหันมาจับตลาดเส้นทางระยะกลาง อาทิ กรุงเทพ-นครราชสีมา, กรุงเทพ-พิษณุโลก เพราะคู่แข่งตลาดนี้ยังมีน้อย โดยจะจัดรถด่วนพิเศษรองรับ แทนเส้นทางระยะยาวอาทิ กรุงเทพ-เชียงใหม่ ที่มีคู่แข่งอย่างโลว์คอสต์แอร์ไลน์ที่มีการแข่งขันสูง
ขณะที่รถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต ระยะทาง 26 กม. จำนวน 10 สถานี จะเปิดให้บริการในต้นปี 2564 ซึ่งประมาณการจะถึงจุดคุ้มทุน (Break event) ภายใน 2-3 ปี ที่จะมีจำนวนผู้โดยสารแตะระดับ 8 หมื่นคน/วัน นอกจากนี้ รถไฟชานเมืองส่วนต่อขยาย ช่วงรังสิต-ม.ธรรมศาสตร์ และเส้นทาง Missing Link หรือสีแดงอ่อน ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา และตลิ่งชัน-ศิริราช อยู่ระหว่างพิจารณาอนุมัติ คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ภายในปีนี้
นอกจากนี้ จะเปิดศูนย์คมนาคมพหลโยธิน หรือสถานีกลางบางซื่อ โดยพร้อมเปิดในปี 2564