นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการแทน ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.). กล่าวถึง การเจรจาต่อรองกับกลุ่มบริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัดและพันธมิตร (กลุ่มซีพี) ในโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) อีกรอบในวันนี้ว่า การเจรจายังอยู่ในกลุ่ม 2 ที่คณะอนุกรรมการฯเป็นผู้เจรจาในวันนี้ โดยเนื้อหาที่จะเจรจาทั้งหมดแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ยากต่อการเจรจา ซึ่งได้คุยกันแล้ว กลุ่ม 2 เป็นกลุ่มที่กระทบภาพลักษณ์ ฝ่ายรัฐบาล และสัญญา และกลุ่ม 3 เป็นกลุ่มที่เจรจาง่าย
อย่างไรก็ตาม ทางกลุ่มซีพี ยังสามารถปรับเปลี่ยนหรือลดเงื่อนไข และเจรจาต่อรองได้
"หลักการเจรจาต้องเป็นความลับ ส่วนผลการเจรจาต้องรอก่อนค่อยวิพากษ์วิจารณ์กัน อาจจะไม่เหมือนอย่างที่คิดก็ได้ ...คณะกรรมการคัดเลือกฯมีกรอบทำงาน อำนาจการทำงาน อันไหนที่เกินกรอบอำนาจ คณะกรรมการคัดเลือกฯจะกล้าทำหรือ จะบอกว่าอันนี้ให้ อันนี้ยอม อย่างนี้ไม่ได้ การเจรจาต้องจบที่เรา คณะกรรมการคัดเลือกฯต้องเสนอผลการเจรจา ต้องรายงานหมด ถ้าผิดทีโออาร์ผมว่าผู้ใหญ่ก็ไม่กล้าทำ "นายวรวุฒิ กล่าว
ส่วนกลุ่มกิจการร่วมค้า BSR ที่ประกอบด้วย บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง (BTS) บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (STEC) และบมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง (RATCH) นั้น นายวรวุฒิ กล่าวว่า ยังไม่ได้ถูกตัดสิทธิ และยังเป็นคู่เจรจาอันดับสอง เพราะในทีโออาร์ ไม่ได้กำหนดว่ารายใดเสนอราคาเกินกว่า ครม.อนุมัติจะตกรอบ เพียงแต่ผู้ที่เสนอราคาต่ำสุดซึ่งก็คือ กลุ่มบริษัทเจริญโภคภัณฑ์ โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร เป็นคู่เจรจาลำดับแรก
อนึ่ง ครม.อนุมัติโครงการดังกล่าว มูลค่า 119,425 ล้านบาท โดยกลุ่มซีพีเสนอราคามาที่ 117,227 ล้านบาท ส่วนกลุ่ม BSR เสนอที่ 169,934 ล้านบาท
"ทีโออาร์ไม่ได้บอกว่าเสนอราคาเกินมาจะ disqualified เพียงแต่บอกว่าใครเสนอต่ำสุดคนนั้นชนะ ชนะเปิดซอง 4 ก่อน ..ก็ตั้งเป้าเจรจาให้เสร็จในเดือนกุมภาพันธ์ ภายในเดือนนี้ ถ้าไม่จบต้องมีเหตุผล ถ้าจะจบ ไม่ไหวแล้วก็ต้องตกลงกัน"
ด้านตัวแทนสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวว่า วันนี้คณะอนุกรรมการฯ ได้เจรจากับกลุ่มซีพีแล้วแต่ยังไม่จบ จะนัดครั้งต่อไปในวันที่ 12 ก.พ.นี้