พลเรือเอกโสภณ วัฒนมงคล รองผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นประธานเปิดการประชุมชี้แจงการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ครั้งที่ 2 เพื่อชี้แจงข้อมูลความก้าวหน้าโครงการฯกระบวนการดำเนินงาน และเกณฑ์การประเมิน รวมทั้งเปิดเวทีให้ผู้ซื้อเอกสารได้ซักถามข้อสงสัยต่างๆ เกี่ยวกับการลงทุนและข้อมูลความก้าวหน้าโครงการฯ โดยมีนักลงทุนที่ซื้อเอกสารการคัดเลือกเอกชน ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ผู้แทนกระทรวงคมนาคม ผู้แทนกองทัพเรือ และหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง รวมถึงสื่อมวลชนร่วมงานกว่า 150 คน
ภายในงาน มีการนำเสนอข้อมูลความก้าวหน้าโครงการฯ และเปิดโอกาสให้ผู้ซื้อเอกสารการคัดเลือกเอกชนซักถามข้อสงสัยต่างๆ โดยมีประเด็นที่หลากหลาย ทั้งด้านการลงทุน ร่างสัญญาร่วมลงทุน การก่อสร้าง รวมไปถึงข้อกำหนดในด้านต่างๆ เช่น การพัฒนาพื้นที่ งานโครงสร้าง และเทคโนโลยีต่างๆ โดยภายหลังจากงานวันนี้ กองทัพเรือจะเปิดให้มีการรับซองข้อเสนอ ณ ห้องประชุม กองทัพเรือ ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2562
ด้านที่ปรึกษาโครงการ กล่าวว่า ผู้เข้าร่วมประชุมมี Feedback ต้องการให้เลื่อนวันยื่นข้อเสนอไปสิ้นสุด 30 เมษายน 2562 ที่กำหนดยื่นข้อเสนอ 28 กุมภาพันธ์นี้ เพราะข้อมูลโครงการมีเป็นจำนวนมาก
หากมีเอกชนยื่นข้อเสนอเพียงรายเดียว ก็ยังสามารถดำเนินการจัดประมูลต่อได้ หรือขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของคณะกรรมคัดเลือกฯ และหากกลุ่มที่ยื่นข้อเสนอแล้ว จะไม่มีการปรับเปลี่ยนสัดส่วนหุ้นจนถึงวันเซ็นสัญญา ยกเว้นให้ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) เข้าร่วมทุนด้วย
นอกจากนี้ มองว่าการให้ผลตอบแทนภาครัฐ 5.9 หมื่นล้านบาทมากเกินไป และลดแบงก์การันตี
ตัวแทนจากบริษัท เจริญโภคภัณฑ์ โฮลดิ้ง จำกัด ให้ความเห็นว่า ทางบริษัทมีความสนใจร่วมลงทุน และกำลังพูดคุยพันธมิตรอยู่ อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อกังวลว่ารายละเอียดโครงการมีมาก และต้องออกแบบก่อสร้างเอง อาจจะต้องใช้ระยะเวลา
สำหรับโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก เป็นหนึ่งในโครงการเร่งด่วนของรัฐบาล เพื่อขับเคลื่อนโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และรองรับอุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ โดยภายหลังจากคณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติโครงการฯ ไปเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2561 กองทัพเรือและสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) จึงได้จัดทำเอกสารเพื่อประกาศเชิญชวนเอกชนเข้าร่วมลงทุนในโครงการฯ และเปิดให้เอกชนซื้อเอกสารการคัดเลือกเอกชนไปเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2561 ที่ผ่านมา
สำหรับรูปแบบการลงทุนในโครงการฯ จะเป็นแบบ PPP รัฐจะลงทุนในส่วนของงานโยธา รันเวย์ที่ 2 และหอบังคับการบินหลังที่ 2 ส่วนเอกชนลงทุนส่วนสำคัญ คือ อาคารผู้โดยสารแห่งที่ 3 ศูนย์การขนส่งภาคพื้นดิน (Ground Transportation Centre: GTC) เพื่อให้เป็นศูนย์กลางการจราจรสำหรับการให้บริการขนส่งสาธารณะไปสู่สนามบิน ศูนย์ธุรกิจขนส่งสินค้าทางอากาศและโลจิสติกส์ (Cargo Complex) พื้นที่เขตประกอบการค้าเสรีและเขตธุรกิจเกี่ยวเนื่องในสนามบินอู่ตะเภา (Cargo Village or Free Trade Zone: FTZ) ศูนย์ธุรกิจการค้า (Commercial Gateway) เป็นต้น โดยกองทัพเรือให้ระยะเวลาเอกชนดำเนินการและใช้ประโยชน์พื้นที่โครงการได้เป็นระยะเวลา 50 ปี
การเปิดให้เอกชนร่วมลงทุนในครั้งนี้ ถือเป็นการเสริมศักยภาพสนามบินอู่ตะเภาให้เป็นสนามบินระดับโลก ซึ่งมีมาตรฐานระดับสูงในด้านความปลอดภัย ความมั่นคง การให้บริการผู้โดยสาร และด้านเทคโนโลยีที่ทันสมัย ตลอดจนเป็นการยกระดับการพัฒนาพื้นที่ภายในสนามบินให้กลายเป็นเมืองการบินภาคตะวันออก (Eastern Airport City) และส่งผลให้ประเทศไทยก้าวขึ้นสู่การเป็นศูนย์กลางการบิน (Aviation Hub) ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในอนาคต