ดีอี จับมือม.เกษตรฯ-ผู้ใช้บริการทุกเครือข่าย-ผู้ผลิตอุปกรณ์ เปิดทดลอง 5G ทั้งระบบที่ศรีราชา

ข่าวเศรษฐกิจ Friday February 8, 2019 18:38 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวว่า กระทรวงฯ ลงนามความร่วมมือทางวิชาการกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศรีราชา ผู้ให้บริการโทรคมนาคมทุกเครือข่าย บริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์โทรคมนาคม และกลุ่มผู้มีความต้องการใช้ 5G เปิดห้องทดลอง 5G ทั้งระบบในประเทศไทย

สำหรับห้องศูนย์ปฏิบัติการทดสอบ 5G อยู่ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศรีราชา ซึ่งมีทำเลที่ตั้งเป็นศูนย์กลางของพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และคาดการณ์ว่าจะมีความต้องการใช้งาน 5G จำนวนมาก ดังนั้น ผู้ที่ตัดสินใจเข้ามาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการติดตั้งอุปกรณ์ และทดสอบการใช้งานที่ศูนย์ฯนี้ ก็จะยิ่งมีโอกาสได้ลูกค้าเป้าหมายแต่เนิ่นๆ เพราะ EEC เป็นพื้นที่ตั้งโรงงานอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งมีขนาดใหญ่มาก

นอกจากนี้ ทาง ดีอี ยังมีแผนเชิญชวนผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมด้านสื่อและความบันเทิง (VR– Virtual Reality /AR - Augmented Reality / Animation), โลจิสติกส์และโรงงานที่ใช้ระบบอัตโนมัติเข้ามาช่วยในการผลิต (Automation Factory) เข้ามาร่วมเพิ่มเติม โดยแนวคิดหลักในการทดสอบที่ Testbed แห่งนี้ มุ่งเน้นการใช้โครงสร้างพื้นฐานร่วมกัน (Infrastructure Sharing) ใช้ทรัพยากรลดลง แต่มีการใช้ได้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยตอบโจทย์การสร้างนวัตกรรมตามความต้องการอย่างแท้จริง (Demand Side Innovation

โดยห้องทดลองจะมีตัวอย่างการใช้งานจริง (Use Case) การจำลองการทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม, โดรนส่งของ, Cooperative Cloud Robot, อุปกรณ์ตรวจวัดบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต (IoT Sensor) นอกจากผู้ให้บริการโทรคมนาคมทั้ง 3 ค่าย บมจ.ทีโอที และ บมจ. กสท โทรคมนาคม ได้แสดงความสนใจเข้ามาทดสอบการใช้งาน และขอติดตั้งอุปกรณ์ 5G เพื่อทดสอบการใช้งานในพื้นที่มากกว่า 10 ราย ประกอบด้วย เจ้าของเทคโนโลยี ที่นำเข้าอุปกรณ์ 5G ทั้งระบบมาถึงประเทศไทยและติดตั้งพร้อมใช้งาน เพื่อโชว์ศักยภาพ อาทิ Remote Driving, Multi-HD VDO และ Smart Bus ได้ในทันที และต่อยอดการพัฒนาบนระบบนิเวศน์ 5G เพื่อให้ผู้ที่สนใจเข้าใจถึงศักยภาพและการปรับใช้ 5G ในอุตสาหกรรม

นอกจากนี้กลุ่มที่มีความต้องการประยุกต์ใช้งาน 5G อาทิ มหาวิทยาลัยมหิดล พัฒนาระบบการใช้ 5G ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของรถพยาบาลฉุกเฉินเคลื่อนที่ (Mobile Unit) ที่รักษาผู้ป่วยฉุกเฉิน สามารถดำเนินการได้โดยไม่มีข้อผิดพลาด การแสดงภาพที่คมชัดเพื่อให้อาจารย์แพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่อยู่ห่างไกล สามารถมองเห็นอาการผู้ป่วยจากภาพถ่าย/ฟิล์มเอ็กซเรย์ เพื่อวินิจฉัยได้อย่างแม่นยำยิ่งขึ้น และสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ที่พร้อมทดสอบเทคโนโลยีการเชื่อมต่อยานพาหนะ (Connected Vehicle) โดยค่ายรถยนต์บางรายมีเทคโนโลยีนี้จากบริษัทแม่อยู่แล้ว

นอกจากนี้เทคโนโลยีรายใหญ่ของญี่ปุ่น ได้แก่ เอ็นอีซี และซูมิโตโม ยังแสดงความจำนงขอเข้ามาใช้พื้นที่ในศูนย์การทดสอบเทคโนโลยี 5G ในโครงการความร่วมมือนี้ ขณะที่ บริษัท NTT Communications (Thailand) Co., Ltd. ซึ่งเป็นกลุ่มเดียวกับ NTT docomo Inc. ของประเทศญี่ปุ่น เสนอความพร้อมเข้าร่วมสนับสนุนโครงการพัฒนาเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (Digital Park Thailand : EECd) อีกทั้งจะมีการเตรียมการเรื่องอุปกรณ์และสนับสนุนด้านอื่น ๆ ด้วย รวมไปถึงผู้ให้บริการแพลตฟอร์มและซอฟต์แวร์ระดับโลก ได้แก่ ซิสโก้, ไมโครซอฟท์, อินเทล และ Dassult ผู้พัฒนาแพลตฟอร์ม 3 มิติ จากฝรั่งเศส เป็นต้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ