นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ตลอดเดือนกุมภาพันธ์ 2562 กรมฯ มีแผนการขยายตลาดและประชาสัมพันธ์ข้าวไทยในต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยได้เตรียมนำเสนอข้าวคุณภาพดีชนิดใหม่ ๆ ของไทยให้เป็นที่รู้จักในต่างประเทศมากขึ้น อาทิ ข้าวไรซ์เบอร์รี่, ข้าวหอมมะลิแดง, ข้าว กข43 เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภคที่รักสุขภาพ ซึ่งเป็นกระแสนิยมในตลาดทั่วโลกในปัจจุบัน
โดยได้มีกำหนดนำคณะผู้แทนการค้าเดินทางไปจัดกิจกรรมส่งเสริมและเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ข้าวไทย และผลิตภัณฑ์นวัตกรรมข้าวไทย ในงานแสดงสินค้าสำคัญ 2 งาน ได้แก่ 1.งาน BIOFACH 2019 ครั้งที่ 30 ระหว่างวันที่ 13-16 กุมภาพันธ์ 2562 ณ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ซึ่งเป็นงานแสดงสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่ใหญ่ที่สุดของโลก ในการจัดงานแต่ละปีมีผู้เข้าร่วมงานกว่า 50,000 ราย จาก 130 ประเทศทั่วโลก นับเป็นเวทีสำคัญในการประชาสัมพันธ์ข้าวอินทรีย์และผลิตภัณฑ์ข้าวอินทรีย์ไทยให้เป็นที่รู้จักแพร่หลายในสหภาพยุโรป และ 2.งาน Gulfood 2019 ระหว่างวันที่ 17-21 กุมภาพันธ์ 2562 ณ สหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ ซึ่งเป็นงานแสดงสินค้าอาหารและเครื่องดื่มนานาชาติที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคตะวันออกกลาง โดยคาดว่าในปีนี้จะมีผู้เข้าร่วมงานกว่า 98,000 ราย จาก 193 ประเทศทั่วโลก
"นอกจากนี้ กรมฯ ยังมีแผนเร่งประชาสัมพันธ์ข้าวไทยอย่างต่อเนื่อง อาทิ การเชิญ Bloggers จากแวดวงอาหารชื่อดังระดับโลก เดินทางเยือนไทย เพื่อจัดกิจกรรมสร้างประสบการณ์เรียนรู้ข้าวไทยในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 และการจัดคณะผู้แทนการค้าเดินทางไปเชื่อมโยงตลาดข้าว ณ ประเทศสิงคโปร์และฮ่องกงในเดือนมีนาคม 2562 เป็นต้น กรมฯ มั่นใจว่าการเดินทางไปจัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์ข้าวไทยในครั้งนี้ จะช่วยให้ผู้ประกอบการไทยมีช่องทางในการขยายตลาดเพิ่มขึ้น รวมทั้งจะช่วยผลักดันการส่งออกข้าวไทยให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง" นายอดุลย์กล่าว
นายอดุลย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า EU เป็นตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่มีศักยภาพสูง มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากสหรัฐฯ มีมูลค่าการซื้อขายกว่า 1.2 ล้านล้านบาท และมีอัตราการขยายตัวอย่างต่อเนื่องทุกปี เนื่องจากผู้บริโภคมีกำลังซื้อสูงและให้ความสำคัญกับสุขภาพเพิ่มมากขึ้น โดยหันมาบริโภคสินค้าปราศจากสารเคมีและอาหารที่ปลอดกลูเตน (Gluten Free) รวมทั้งไทยยังมีโอกาสช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดข้าวใน EU ได้เพิ่มขึ้น จากการที่ EU เรียกเก็บภาษีนำเข้าข้าวจากกัมพูชา และเมียนมา เป็นระยะเวลา 3 ปี (ปีที่ 1-3 ในอัตรา 175, 150 และ 125 ยูโร/ตัน) ภายใต้มาตรการ Safeguard ทำให้ข้าวที่นำเข้าจากกัมพูชาและเมียนมามีราคาสูงขึ้นใกล้เคียงกับราคาข้าวไทย ซึ่งผู้ซื้อ EU มีแนวโน้มที่หันมานำเข้าข้าวจากไทยซึ่งมีคุณภาพดีกว่า ทั้งนี้ ปัจจุบันกัมพูชาครองส่วนแบ่งตลาดข้าวเป็นอันดับ 1 ใน EU ประมาณ 25% รองลงมาได้แก่ อินเดียและไทย
สำหรับภูมิภาคตะวันออกกลาง ก็ถือเป็นตลาดข้าวที่มีศักยภาพสูง เนื่องจากประชากรมีกำลังซื้อและบริโภคข้าวเป็นอาหารหลัก ทั้งยังนำเข้าข้าวเพื่อความมั่นคงทางอาหาร โดยในแต่ละปีจำเป็นต้องนำเข้าข้าวมากถึง 7 ล้านตันต่อปี ซึ่ง UAE ถือเป็นตลาดสำคัญในการนำเข้าข้าวไทย โดยข้าวที่นำเข้าส่วนใหญ่ จะนำไปกระจายส่งออกต่อไปยังตลาดอื่นๆ เช่น อิรัก อิหร่าน และเยเมน เป็นต้น โดยเฉพาะข้าวนึ่งและข้าวขาว สำหรับข้าวหอมมะลิไทยจะนำไปใช้บริโภคภายในประเทศ จึงเป็นโอกาสดีของข้าวอินทรีย์และผลิตภัณฑ์แปรรูปจากข้าวอินทรีย์ไทยที่สามารถตอบโจทย์และสนองความต้องการดังกล่าวได้เป็นอย่างดี
สำหรับสถิติการส่งออกข้าวในปี 2562 ตามข้อมูลใบอนุญาตส่งออกข้าว พบว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 4 กุมภาพันธ์ 2562 ไทยส่งออกข้าวปริมาณ 1.07 ล้านตัน มูลค่า 17,879 ล้านบาท ปริมาณลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีปริมาณ 1.10 ล้านตัน หรือลดลง 2.81% แต่มูลค่าเพิ่มขึ้นจาก 17,529 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 2.10%