สคร.เตรียมทำกม.ลำดับรอง หลัง สนช.มีมติผ่านร่าง พ.ร.บ.ร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน

ข่าวเศรษฐกิจ Monday February 11, 2019 14:20 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายประภาศ คงเอียด ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ครั้งที่ 7/2562 เป็นพิเศษ เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2562 ที่ประชุมได้พิจารณาร่าง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. …. (ร่าง พ.ร.บ. การร่วมลงทุนฯ) แล้วลงมติเห็นสมควรประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป

ผู้อำนวยการ สคร. กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนฯ จะเป็นมิติใหม่สำหรับการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนหรือ PPP ของประเทศไทย ซึ่งจะมีผลให้การจัดทำโครงการโครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะ อันเป็นภารกิจของรัฐเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับหลักการสากลเรื่อง PPP ที่สะท้อนหลักความเป็นหุ้นส่วนระหว่างรัฐและเอกชน และมีมาตรการในการส่งเสริมการร่วมลงทุนภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลัง โดยคำนึงถึงความสำเร็จของโครงการร่วมลงทุน ทำให้ภาครัฐสามารถยกระดับในการให้บริการประชาชนได้ดียิ่งขึ้น

"สคร. อยู่ระหว่างเตรียมการชี้แจงทำความเข้าใจกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และการจัดทำกฎหมายลำดับรอง เพื่อให้หน่วยงานต่าง ๆ มีแนวทางที่ชัดเจนในการดำเนินการตามร่าง พ.ร.บ. การร่วมลงทุนฯ ต่อไป" นายประภาศ ระบุ

นางปานทิพย์ ศรีพิมล ที่ปรึกษาด้านพัฒนารัฐวิสาหกิจ กล่าวเพิ่มเติมว่า พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ.2556 (พ.ร.บ. ร่วมลงทุนฯ ปี 2556) ที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน มีขอบเขตของกฎหมายที่กว้างขวาง อันส่งผลให้มีโครงการที่ไม่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะต้องเข้ามาสู่กระบวนการตามกฎหมายดังกล่าว และยังไม่สะท้อนถึงความเป็นหุ้นส่วนระหว่างรัฐและเอกชนที่ชัดเจน ประกอบกับยังขาดมาตรการในการแก้ไขปัญหาระหว่างหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง และมาตรการส่งเสริมการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน ส่งผลให้การดำเนินโครงการมีความล่าช้า และเอกชนยังไม่ให้ความสนใจที่จะเข้าร่วมลงทุนในโครงการของรัฐเท่าที่ควร

สคร.จึงได้เสนอร่าง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนฯ ขึ้น อันมีผลเป็นการยกเลิก พ.ร.บ. ร่วมลงทุนฯ ปี 2556 โดยมีสาระสำคัญดังนี้

1. กำหนดเป้าประสงค์ของการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน ให้มีการจัดทำและดำเนินโครงการร่วมลงทุนที่อยู่บนพื้นฐานของความเป็นหุ้นส่วนระหว่างรัฐและเอกชน (Partnership) โดยมุ่งเน้นการใช้ความเชี่ยวชาญและนวัตกรรมของเอกชน ในโครงการร่วมลงทุนและมีการถ่ายทอดความรู้ ความเชี่ยวชาญไปยังหน่วยงานของภาครัฐ

2. กำหนดนโยบายของรัฐที่ชัดเจนและแน่นอนในการจัดทำโครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะ โดยให้มีการจัดทำแผนโครงการร่วมลงทุนและกำหนดให้โครงการที่ไม่ได้อยู่หรือเกี่ยวข้องกับกิจการโครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะ เช่น โครงการพัฒนาที่ดินเชิงพาณิชย์ ไม่ต้องเข้ามาสู่กระบวนการตามกฎหมายดังกล่าว

ทั้งนี้ การใช้ประโยชน์ในทรัพย์สินของหน่วยงานของรัฐและทรัพยากรธรรมชาติ จะต้องมีกฎระเบียบรองรับที่เหมาะสมในการคัดเลือกและการกำกับดูแลต่อไป

3. กำหนดให้โครงการที่เข้าข่ายต้องปฏิบัติตามร่าง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. .... จะต้องพิจารณาจากนิยามตามร่างมาตรา 4 คำว่า "โครงการ" กล่าวคือ เป็นโครงการลงทุนของรัฐในกิจการที่หน่วยงานของรัฐหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง หรือหลายหน่วยงานรวมกัน มีหน้าที่และอำนาจต้องทำตามกฎหมายหรือกฎ หรือที่มีหน้าที่และอำนาจต้องทำตามวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งและนิยามคำว่า "ร่วมลงทุน" กล่าวคือ ร่วมลงทุนกับเอกชนไม่ว่าโดยวิธีใด หรือมอบให้เอกชนลงทุนแต่ฝ่ายเดียว โดยวิธีการอนุญาต หรือให้สัมปทาน หรือให้สิทธิไม่ว่าในลักษณะใด โดยจะต้องเป็นโครงการร่วมลงทุนในกิจการเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะตามที่กำหนดไว้ในร่างมาตรา 7

4. ปรับปรุงองค์ประกอบของคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน โดยเพิ่มเติมผู้แทนจากหน่วยงานที่ดูแลเรื่องการให้สิทธิและประโยชน์ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุนร่วมเป็นกรรมการ รวมทั้งประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และประธานสมาคมธนาคารไทย เพื่อให้การกำหนดนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน มีมุมมองจากภาคเอกชนบนพื้นฐานของความเป็นหุ้นส่วนระหว่างรัฐและเอกชน และกำหนดให้มีผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับโครงการร่วมลงทุนเป็นองค์ประกอบในคณะกรรมการคัดเลือก

5. กำหนดหลักเกณฑ์และขั้นตอนการดำเนินการโครงการร่วมลงทุนที่กระชับ โปร่งใส และตรวจสอบได้มากยิ่งขึ้น รวมถึงกำหนดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชนในขั้นตอนต่างๆ

6. กำหนดให้ในกรณีที่เกิดปัญหาหรืออุปสรรค หรือเกิดความล่าช้าในการจัดทำหรือดำเนินโครงการร่วมลงทุน ให้หน่วยงานเจ้าของโครงการสามารถเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน และคณะรัฐมนตรี เพื่อกำหนดกรอบระยะเวลา หรือพิจารณาแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ ทำให้สามารถดำเนินโครงการร่วมลงทุนได้อย่างรวดเร็ว และเกิดการแก้ไขปัญหาอย่างบูรณาการระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

7. กำหนดให้มีมาตรการส่งเสริมการร่วมลงทุนให้แก่โครงการร่วมลงทุนอย่างเหมาะสม ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลัง เช่น สิทธิและประโยชน์ที่เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน สิทธิการเช่าที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ในโครงการร่วมลงทุนที่มีระยะเวลาการเช่าไม่เกิน 50 ปี

8. กำหนดให้หน่วยงานเจ้าของโครงการโดยความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี สามารถใช้อำนาจเพื่อประโยชน์สาธารณะในการเข้าดำเนินโครงการร่วมลงทุน หรือมอบให้ผู้อื่นดำเนินโครงการร่วมลงทุนเป็นการชั่วคราว แก้ไขสัญญาร่วมลงทุน หรือบอกเลิกสัญญาร่วมลงทุนได้ โดยในกรณีที่เหตุจากการใช้อำนาจนั้นไม่ได้มาจากความผิดของเอกชนคู่สัญญา ให้หน่วยงานเจ้าของโครงการจ่ายค่าชดเชยแก่เอกชนคู่สัญญาอย่างเป็นธรรม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ