(เพิ่มเติม) ม.หอการค้าฯ คาดส่งออกปีนี้โต 4.4% ต่ำสุดในรอบ 3 ปี มูลค่าราว 2.6 แสนล้านเหรียญฯ

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday February 12, 2019 13:28 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยบทวิเคราะห์"การส่งออกไทยปี 2562 ภายใต้ความผันผวนของเศรษฐกิจโลก"โดยประเมินมูลค่าส่งออกไทยในปีนี้ที่ 263,596 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวราว 4.4% หรือในช่วง 3.2-4.6% ถือว่าเป็นอัตราการขยายตัวที่ต่ำสุดในรอบ 3 ปี

สำหรับปัจจัยลบสำคัญ ได้แก่ สงครามการค้ายืดเยื้อ, ทิศทางเศรษฐกิจโลกชะลอตัว รวมถึงเศรษฐกิจของสหรัฐ จีน และยุโรป, อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทแข็งค่า โดยแข็งค่ากว่าประเทศคู่แข่ง, ราคาน้ำมันมีแนวโน้มปรับตัวลดลง, ราคาสินค้าเกษตรยังมีแนวโน้มลดลง และการที่สหรัฐตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) สินค้าไทย 11 รายการ

ขณะที่ปัจจัยบวก ได้แก่ สหภาพยุโรปปลดใบเหลืองประมงไทย และ สหรัฐยืดเวลาการขึ้นภาษีสินค้าจากจีนออกไปอีก 90 วัน

นอกจากนั้นยังมีประเด็นสำคัญที่ต้องติดตามเพราะอาจมีผลต่อการส่งออกของไทยในปีนี้ เช่น ความไม่แน่นอนของสถานการณ์ที่อังกฤษจะออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (Brexit), การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่อาจส่งผลให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น และการที่ไทยส่งออกไปสหภาพยุโรปลดลง เนื่องจากในปีนี้ข้อตกลง FTA สหภาพยุโรป-เวียดนามอาจตะเริ่มมีผลบังคับใช้

นายอัทธ์ กล่าวว่า ประเด็นสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ที่ล่าสุดสหรัฐได้เลื่อนเวลาการจัดเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนในอัตรา 25% ออกไป 90 วัน ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 1 มี.ค.62 นั้น หากในระหว่างนี้การเจรจาระหว่าง 2 ฝ่ายประสบความสำเร็จ โดยที่ทั้งสหรัฐและจีนไม่มีการปรับขึ้นภาษีอีก ก็จะทำให้การส่งออกของไทยในปีนี้ลดลงอีก 0.5% หรือคิดเป็นมูลค่า 1,181 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่หากผลการเจรจาล้มเหลว ซึ่งทำให้สหรัฐและจีนต่างต้องปรับขึ้นภาษีตามแผนเดิม ก็จะทำให้การส่งออกไทยลดลงอีก 1% หรือคิดเป็นมูลค่า 2,367 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่หากในกรณีร้ายแรงสุดที่ผลการเจรจาล้มเหลว และสถานการณ์ของสงครามการค้ามีความรุนแรงมากขึ้น โดยสหรัฐและจีนปรับขึ้นภาษีตามแผนเดิม และเพิ่มรายการจัดเก็บภาษีขึ้นอีก ก็จะทำให้การส่งออกไทยในปีนี้ลดลงอีก 1.9% หรือคิดเป็นมูลค่า 4,427 ล้านเหรียญสหรัฐ

สำหรับการชะลอตัวของประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่นั้น นายอัทธ์ มองว่าในส่วนของสหรัฐที่แม้จะมีการคาดการณ์ว่า ปีนี้เศรษฐกิจสหรัฐจะเติบโตได้ 2.5% ซึ่งชะลอตัวลงจากปี 61 ที่เติบโตได้ 2.9% นั้น แต่เศรษฐกิจสหรัฐยังได้รับผลบวกจากการบริโภคและการลงทุนในประเทศที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และการจ้างงานในประเทศที่ยังมีแนวโน้มดี ในขณะที่สถานการณ์การเมืองในประเทศด้านการบริหาร ยังมีความเสี่ยงต่อการปิดหน่วยงานราชการของสหรัฐเป็นการชั่วคราว ซึ่งมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐด้วย

ส่วนทิศทางของเศรษฐกิจจีนในปีนี้ คาดว่าจะเติบโตได้ 6.2% ชะลอลงจากปีก่อนที่เติบโตได้ 6.6% เป็นผลจากการลงทุนที่ชะลอตัว เนื่องจากการผลิตภาคอุตสาหกรรม และคำสั่งซื้อใหม่เพื่อการส่งออกมีแนวโน้มลดลง อีกทั้งสงครามการค้ายังเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจจีนจากที่การเจรจาล่าสุดเมื่อ 31 ม.ค.62 ยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้ และต้องรอผลการเจรจาในเดือนก.พ.นี้ว่าจะมีข้อสรุปออกมาอย่างไร อย่างไรก็ดีการที่เศรษฐกิจจีนชะลอตัวลงไม่มากนัก เป็นเพราะส่วนหนึ่งยังมีปัจจัยบวกด้านการบริโภคในประเทศที่ยังคงขยายตัวได้ดี

ทั้งนี้ มองว่าสินค้าไทยในกลุ่มเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบสูงสุด 5 อันดับแรกในตลาดสหรัฐและจีน หากเศรษฐกิจของทั้ง 2 ประเทศมีปัญหาชะลอตัวมีดังนี้ ตลาดสหรัฐ สินค้าไทย 5 อันดับแรกที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง คือ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ, ยางและผลิตภัณฑ์ยาง, เครื่องนุ่มห่ม, เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ, รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ขณะที่ตลาดจีน สินค้าไทย 5 อันดับแรกที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง คือ ยางและผลิตภัณฑ์ยาง, เม็ดพลาสติก, เคมีภัณฑ์, ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง, รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ

"เรายังหวังว่าการเจรจารอบนี้ระหว่างสหรัฐและจีนจะประสบความสำเร็จ ซึ่งคงจะมีผลกระทบต่อการส่งออกของไทยปีนี้เพียง 0.5% เท่านั้น" นายอัทธ์ระบุ

นายอัทธ์ กล่าวด้วยว่า ต้องติดตามการเจรจาข้อตกลงเสรีการค้า (FTA) สหภาพยุโรป-เวียดนาม ซึ่งหากมีผลบังคับใช้ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ย่อมมีผลกระทบต่อการส่งออกของไทยในภาพรวมด้วยเช่นกัน กล่าวคือ ข้อตกลงดังกล่าวจะมีผลให้สินค้าจากเวียดนามส่งออกไปตลาดสหภาพยุโรป (อียู) เพิ่มขึ้นถึง 16,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเพิ่มขึ้นจากมูลค่าการส่งออกเดิมถึง 33% โดยมีการคิดคำนวณว่าหากเวียดนามส่งออกไปอียูเพิ่มขึ้น 1% จะทำให้การส่งออกสินค้าไทยไปอียูลดลง 0.05%

"ผลจาก FTA อียู-เวียดนาม ประเมินในเบื้องต้นคาดว่าจะทำให้การส่งออกของไทยไปตลาดอียูลดลง 1.7% คิดเป็นมูลค่า 458 ล้านดอลลาร์ และทำให้การส่งออกโดยรวมของไทยลดลง 0.2%" นายอัทธ์ระบุ

นายอัทธ์ ยังกล่าวถึงสถานการณ์เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นตั้งแต่ในช่วงต้นปีว่า ในเดือนม.ค.62 เงินบาทของไทยแข็งค่ามากสุดในเอเชียเมื่อเทียบกับสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ โดยเงินบาทของไทยแข็งค่าขึ้น 3.4% รองลงมา คือ ค่าเงินของอินโดนีเซีย, จีน, สิงคโปร์, เกาหลีใต้, มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ในขณะที่ค่าเงินของเวียดนาม, ญี่ปุ่น และอินเดียอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ

ทั้งนี้ การที่เงินบาทแข็งค่าขึ้นทุก 1% จะส่งผลให้มูลค่าการส่งออกของไทยลดลง 0.14% ดังนั้นในปีนี้ หากเงินบาทเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ระดับ 32 บาท/ดอลลาร์ มูลค่าการส่งออกของไทยจะลดลง 0.1% หรือเพียง 341 ล้านดอลลาร์ แต่หากเงินบาทเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ระดับ 31 บาท/ดอลลาร์ มูลค่าการส่งออกของไทยจะลดลง 0.4% หรือลดลง 1,099 ล้านดอลลาร์ แต่หากเงินบาทเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ระดับ 33 บาท/ดอลลาร์ มูลค่าการส่งออกของไทยจะเพิ่มขึ้นอีก 0.9% หรือเพิ่มขึ้น 2,198 ล้านดอลลาร์

นายอัทธ์ ยังคาดว่าในปีนี้เงินบาทยังมีแนวโน้มแข็งค่าต่อเนื่อง โดยคาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 31-32 บาท/ดอลลาร์ ซึ่งถือว่าเป็นระดับที่แข็งค่าสุดในรอบ 6 ปี นับตั้งแต่ปี 56 ที่เงินบาทเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 30.70 บาท/ดอลลาร์ ทั้งนี้เงินบาทและสกุลเงินอื่นๆ ในอาเซียนมีแนวโน้มแข็งค่าจากการไหลเข้าของเงินทุน ซึ่งเป็นผลกระทบต่อเนื่องจากการปรับตัวด้านการลงทุนจากสงครามการค้า และความไม่มีเสถียรภาพของเศรษฐกิจยุโรป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ