นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันไทยมีความตกลงการค้าเสรีกับอินเดียที่มีผลใช้บังคับแล้วอยู่ 2 ฉบับ ที่ผู้ส่งออกสามารถเลือกใช้ประโยชน์ได้ ได้แก่ 1.FTA ไทย-อินเดีย ที่จัดทำในปี 2547 ซึ่งปัจจุบันสองประเทศมีการยกเลิกภาษีศุลกากรสินค้า 83 รายการระหว่างกัน อาทิ เงาะ ลำไย มังคุด ทุเรียน อาหารทะเลกระป๋อง อัญมณีและเครื่องประดับ เม็ดพลาสติก เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิคส์ และชิ้นส่วนยานยนต์
2.FTA อาเซียน-อินเดีย ที่จัดทำในปี 2553 ซึ่งปัจจุบันมีการลดภาษีศุลกากรสินค้ากว่า 5,224 รายการ อาทิ เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์พลาสติก อัญมณีและเครื่องประดับ ชิ้นส่วนยานยนต์ ผลิตภัณฑ์อะลูมิเนียม เฟอร์นิเจอร์และส่วนประกอบ เครื่องสำอาง ผักและพืชประเภทถั่ว อาหารปรุงแต่ง และน้ำผลไม้ โดยมีสินค้าที่ลดภาษีเป็นศูนย์แล้วกว่าร้อยละ 79 ของรายการสินค้าทั้งหมด
นางอรมน เสริมว่า จากการติดตามสถิติการค้าระหว่างไทยกับอินเดีย นับตั้งแต่ที่ FTA ทั้ง 2 ฉบับมีผลบังคับใช้ จนถึงสิ้นปี 2561 พบว่าการค้าระหว่างไทยกับอินเดียเติบโตอย่างมาก ขยายตัวถึง 508.9% โดยในปี 2561 มูลค่าการค้ารวมอยู่ที่ 12,463.7 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 20% จากปีก่อนหน้า เป็นมูลค่าการส่งออกจากไทยไปอินเดีย 7,600.3 ล้านเหรียญสหรัฐ
โดยในจำนวนนี้ มีมูลค่าการส่งออกภายใต้ FTA จำนวน 4,050 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 58% ของมูลค่าส่งออกไปอินเดีย โดยมีสินค้าส่งออกสำคัญ เช่น เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก รถยนต์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ เหล็ก เครื่องจักรกล และเครื่องปรับอากาศ โดยสินค้าส่งออกที่มีการใช้สิทธิ FTA สูงเป็นอันดับต้น ๆ ภายใต้ FTA ไทย-อินเดีย ได้แก่ เครื่องปรับอากาศ โพลิคาร์บอเนต ตู้เย็นที่มีตู้แช่แข็ง อะลูมิเนียมเจือ และเครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบ และภายใต้ FTA อาเซียน-อินเดีย ได้แก่ ลวดทองแดงเจือ มอนิเตอร์และเครื่องฉาย ฟีนอล (ไฮดรอกซิเบนซิน) เศษเหล็กกล้าไม่เป็นสนิม ส่วนประกอบและอุปกรณ์รถแทรกเตอร์
ขณะที่มูลค่าการนำเข้าจากอินเดียมาไทยอยู่ที่ 4,863.4 ล้านเหรียญสหรัฐ และเป็นการนำเข้าภายใต้ FTA มูลค่า 640 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 13% ของการนำเข้าจากอินเดีย สินค้านำเข้าสำคัญจากอินเดียมาไทย เช่น เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เครื่องจักรกล เคมีภัณฑ์ สินแร่ สัตว์น้ำ ส่วนประกอบรถยนต์ โดยสินค้านำเข้าที่มีการใช้สิทธิ FTA สูงเป็นอันดับต้นๆ ภายใต้ FTA ไทย-อินเดีย ได้แก่ เกลือ องุ่นสดหรือแห้ง ผลไม้สด (ทับทิม) ของอื่น ๆ ทำด้วยเหล็กกล้า และเครื่องอัดลม (สำหรับเครื่องปรับอากาศ) และภายใต้ FTA อาเซียน-อินเดีย ได้แก่ พริกแห้ง ด้ายฝ้าย ส่วนประกอบ/อุปกรณ์ยานยนต์ ผ้าทอทำด้วยฝ้าย ยารักษาหรือป้องกันโรค
"อินเดียเป็นประเทศที่มีประชากรกว่า 1,300 ล้านคน เป็นตลาดขนาดใหญ่ที่มีขนาดเศรษฐกิจเป็นลำดับที่ 5 ของโลก หรือ 2.9 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ โดยอินเดียจัดได้ว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว ไทยจึงควรให้ความสนใจกับตลาดใหม่ที่มีศักยภาพเช่นอินเดีย นอกจากนี้อินเดียยังมีถึง 29 รัฐ ที่มีพฤติกรรมการบริโภคและความต้องการสินค้าที่หลากหลายแตกต่างกันไปตามกำลังซื้อ โดยในรัฐที่คนมีกำลังซื้อสูงอาศัยอยู่จำนวนมากก็จะมีความต้องการในการบริโภคสินค้าคุณภาพสูง และสำหรับรัฐที่คนมีกำลังซื้อต่ำลงมา ก็จะมีความต้องการในการบริโภคสินค้าคุณภาพลดหลั่นลงมาเช่นกัน" นางอรมนระบุ
ทั้งนี้ นิวเดลีเป็นเมืองหลวงที่มีศักยภาพด้านโทรคมนาคม การก่อสร้าง การท่องเที่ยว ยานยนต์ และบริการสุขภาพ ขณะที่มุมไบเป็นเมืองที่มีประชากรมากที่สุดในอินเดีย มีอุตสาหกรรมการผลิตคิดเป็น 25% ของอินเดีย และมีอุตสาหกรรมที่สำคัญ เช่น สิ่งทอ เคมีภัณฑ์ เครื่องจักร ปิโตรเคมี โลหะ เหล็ก พลาสติก และการส่งออกซอฟแวร์
ส่วนเจนไน เป็นเมืองแห่งอุตสาหกรรมยานยนต์ และการเชื่อมโยงทางทะเล และรัฐคุชราตเป็นรัฐที่มีพื้นที่ติดทะเลมากที่สุดในอินเดีย ซึ่งเป็นโอกาสของผู้ประกอบไทยที่สนใจลงทุนในสาขาอุตสาหกรรมอาหารทะเลแปรรูป ยาและเวชภัณฑ์ อัญมณีและเครื่องประดับ เป็นต้น
"ผู้ประกอบการไทยจึงไม่ควรมองข้ามโอกาสจากตลาดขนาดใหญ่เช่นอินเดียนี้ และควรพยายามศึกษาและทำความเข้าใจใช้ประโยชน์จาก FTA รวมทั้งขยายการลงทุนทำธุรกิจในประเทศอินเดียเพิ่มขึ้น" นางอรมนกล่าวเสริม