IMF คาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รับผลกระทบหนักสุดจากศก.สหรัฐชะลอตัว

ข่าวต่างประเทศ Wednesday January 23, 2008 10:33 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          สตีเว่น ดันอะเวย์ รองผู้อำนวยการแผนกเอเชียและแปซิฟิคของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) กล่าวว่า เอเชียตะวันออกเฉียงใต้อาจต้องเผชิญกับการแข่งขันด้านการส่งออกอย่างหนักหน่วงกับจีนมากขึ้น และมีแนวโน้มว่าจะได้รับผลกระทบการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ
ตามที่นักเศรษฐศาสตร์บางส่วนได้คาดการณ์ว่า ตลาดที่อยู่อาศัยสหรัฐที่ร่วงลงและวิกฤติสินเชื่อจะทำให้เกิดภาวะถดถอยในเศรษฐกิจสหรัฐนั้น เห็นได้ชัดเจนว่า สถานการณ์ดังกล่าวจะนำไปสู่ภาวะชะลอตัวด้านการส่งออกของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจที่มีการขยายตัวอย่างรวดเร็วในเอเชีย ซึ่งมีจีนเป็นผู้นำ
สำนักข่าวธอมสันไฟแนนเชียลรายงานว่า นายดันอะเวย์กล่าวว่า หากการขยายตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐลดประมาณ 1% ก็อาจจะทำให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจในเอเชียลดลง 0.50-1.0% ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าผลกระทบที่จะเกิดขึ้นอันเนื่องมาจากเศรษฐกิจสหรัฐชะลอตัวลงนั้นออกมาในรูปแบบใด
"ผลกระทบที่มีต่อเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นจะมีมากขึ้น เพราะเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต้องแข่งกับจีนในเรื่องปริมาณการส่งออกสินค้า และประเทศเหล่านี้จะต้องพบกับความยากลำบากมากขึ้นเพราะเศรษฐกิจสหรัฐที่ชะลอตัวลง และการแข่งขันที่รุนแรงกับจีน" นายดันอะเวย์กล่าวในที่ประชุมเรื่องเศรษฐกิจซึ่งจัดขึ้นที่วู้ดโรว์ วิลสัน อินเตอร์เนชั่นแนล เซ็นเตอร์ ฟอร์ สกอลาร์ในกรุงวอชิงตัน
ดันอะเวย์กล่าวว่า ประเทศที่ส่งออกสินค้าในเอเชียกำลังจะได้ส่วนแบ่งที่น้อยลง หากว่าการนำเข้าของสหรัฐหดตัวลง และมีความเป็นไปได้ที่จีนจะหั่นราคาสินค้าเพื่อให้สินค้าของตนเองมีข้อได้เปรียบ หากจีนพบกับสภาพแวดล้อมในการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น ก็มีแนวโน้มว่า จีนอาจจะตรึงราคาสินค้าไว้ หากไม่ตัดสินใจลดราคาสินค้าลงไปเสียก่อน
รองผอ.ฝ่ายกิจการเอเชียฯกล่าวต่อไปว่า หากเป็นเช่นนั้นก็จะส่งผลกระทบต่อสัดส่วนกำไรและทำให้เกิดแรงกดดันด้านการแข่งขันในบริษัทของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น รวมทั้งบริษัทในประเทศอื่นๆที่ต้องแข่งขันกับบริษัทของจีน
นักเศรษฐศาสตร์หลายรายกล่าวว่า การผลิตที่ใช้แรงงานสูงของจีนเป็นความได้เปรียบของจีนในด้านการค้าและการลงทุน เมื่อปรียบเทียบกับประเทศที่พึ่งพาการส่งออกเป็นหลักในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่าง ไทย อินโดนีเซีย เวียดนาม และฟิลิปินส์
แต่การขยายทางเศรษฐกิจที่รวดเร็วของจีนในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ทำให้มีการนำเข้าวัตถุดิบและผลผลิตจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้นเช่นกัน ซึ่งปัจจัยนี้มีส่วนช่วยกระตุ้นการขยายตัวในภูมิภาคด้วยเช่นกัน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ